คลังดึงแบงก์รัฐร่วมปล่อยกู้ผู้ประกอบธุรกิจอีอีซี

คลังดึงแบงก์รัฐร่วมปล่อยกู้ผู้ประกอบธุรกิจอีอีซี

คลังดึงแบงก์รัฐร่วมปล่อยกู้ผู้ประกอบธุรกิจในอีอีซีกว่า 1.7 แสนราย หวังเป็นพื้นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยออมสินปล่อยกู้ไม่จำกัดวงเงิน ให้ดอกเบี้ยต่ำสุด 1%ต่อปีสำหรับรายย่อย ส่วนเอ็กซิมแบงก์ตั้งวงเงิน 1 พันล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 2%ต่อปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้จับมือกับสถาบันการเงินของรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) และ บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ในการระดมสภาพคล่องเพื่อช่วยภาคธุรกิจในอีอีซีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่กว่า 1.75 แสนราย ให้ฟื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการธุรกรรมทางการเงินประเภทต่างๆ รวมทั้ง เทคโนโลยีทางการเงินที่ทันสมัยสนับสนุนแก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่จะมีบริการและเครื่องมือทางการเงิน สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในพื้นที่ได้สะดวกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสภาพคล่อง บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ประสบผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19เพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงทางธุรกิจ พร้อมกันนี้ จะได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อการบริการด้านการเงินการลงทุน การนำเข้า ส่งออก และการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการนักลงทุนได้ครอบคลุมทุกความต้องการ มีความสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขัน และสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ อีอีซี อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เขากล่าวว่า พื้นที่ EEC ถือว่า เป็นพื้นที่สำคัญของประเทศในการสร้างอุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต หรือเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเครื่องยนต์ใหม่ของประเทศ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)กล่าวว่า ขนาดธุรกิจในอีอีซีมีอยู่ 1.7 แสนราย แบ่งเป็น ธุรกิจประชาชน 1.35 แสนราย ธุรกิจขนาดเล็ก 3.4 หมื่นราย ธุรกิจขนาดกลาง 3.8 พันราย และ ธุรกิจขนาดใหญ่ 1.5 พันราย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ธนาคารออมสิน พร้อมให้ความมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน ประชาชนและชุมชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน บริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร โดยเฉพาะการสนับสนุนและให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อ ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ ให้กู้ได้นานเป็นพิเศษ และไม่จำกัดวงเงิน

ประกอบด้วย สินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ สินเชื่อ GSB Smooth BIZ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท

สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจ Small SMEs เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ หรือนำไปไถ่ถอนสัญญาขายฝาก ให้กู้โดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุด 70% ของราคาประเมินราชการ ไม่ตรวจเครดิตบูโร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.99% ตลอดสัญญา

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย งานบริการและผลิตสินค้าอุปโภคเพื่อจำหน่าย ได้แก่ สินเชื่อประชาชนสุขใจ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ หรือใช้ปลดภาระหนี้นอกระบบ ให้วงเงินกู้สูงสุด 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน Flat Rate ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี โดย บสย.ค้ำประกันเต็มวงเงิน โดยวงเงินที่ธนาคารจะให้กับโครงการนี้ ธนาคารยังไม่กำหนดแต่ธนาคารมั่นใจว่ามีสภาพคล่องเพียงพอที่จะสนับสนุนโครงการนี้ได้

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์กล่าวว่า แพ็กเกจทางการเงินของธนาคารในโครงการนี้ ได้แก่ สินเชื่อ EXIM EEC Plus เป็นวงเงินหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุนใน EEC หรือต้องการปรับปรุงเครื่องจักร โรงงาน ระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-curve) และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี เป้าหมายวงเงิน 1,000 ล้านบาท

ด้านนางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการบสย.กล่าวว่า บสย.ได้ให้บริการธุรกรรมทางการเงิน เช่น บริการ บสย. ค้ำประกันให้ลูกค้าในโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan และบริการ บสย. ค้ำประกันให้ลูกค้าในโครงการสินเชื่อประชาสุขใจ สำหรับพื้นที่ อีอีซี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจ ทดแทนการกู้ยืมเงินนอกระบบ

ทั้งนี้ บสย. ยังมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการให้มีค่าใช้จ่ายลดลงอีกด้วย และ บสย. ยังมีโครงการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในการพัฒนาปรับปรุงธุรกิจ ช่วยแนะนำการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวข้ามผลกระทบในเวลานี้ และสามารถพัฒนากิจการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในระยะต่อไป