“อาคม”แนะธุรกิจประกันรับมือ5ด้านการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม

“อาคม”แนะธุรกิจประกันรับมือ5ด้านการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม

“อาคม”ชี้ธุรกิจประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งระบบการเงินประเทศ แนะปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมใน 5 ด้านหลัก คือ เทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย โครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและเศรษฐกิจชีวภาพ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถา ในงาน Thailand InsurTech Fair 2021ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมานั้น ได้ส่งผลกระทบต่อหลายมิติทั้งเศรษฐกิจและสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมประกันภัยได้แสดงความสามารถให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ถึงบทบาทการบริหารความเสี่ยงกับสังคมไทยผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์เพียงพอต่อความต้องการในประเทศและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังรวมถึง การกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึง ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทำให้คนไทยตระหนักถึงการประกันภัยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับครัวเรือนและผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมประกันภัยถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินประเทศ มีบทบาทในการระดมเงินทุนจากผู้มีเงินออม เพื่อสร้างหลักประกันในชีวิตระยะยาว ความสามารถในการพยากรณ์ถ้ามองในแง่ของช่วงชีวิตอายุคนก็สามารถที่จะประมาณการได้อย่างแม่นยำ แต่สิ่งที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันเรานั้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เช่น น้ำท่วม ภัยแล้งต่างๆ เป็นเรื่องที่แม้จะมีเทคโนโลยีพัฒนาในการพยากรณ์แต่ก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้แม้เราจะมีระบบป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้งอย่างดีแล้วก็ตาม

ดังนั้น เมื่อธุรกิจประกันภัยเป็นกลไกสำคัญของระบบการเงิน ทำให้วันนี้ เราต้องมองไปข้างหน้า ซึ่งนับจากนี้เป็นต้นไป ธุรกิจประกันภัยต้องมีการปรับตัว โดยต้องปรับตัวใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่

1.การปรับตัวด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเทคโนโลยีได้แผ่ขยายไปทั้งในระดับประชาชน ธุรกิจ และ รัฐบาล ในส่วนของรัฐบาลนั้น ก็ได้พัฒนาแอพลิเคชันต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ่ายค่าธรรมเนียม การขออนุญาต ซึ่งสามารถทำผ่านมือถือได้ หวังว่า ธุรกิจประกันภัยจะนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพื่อสะดวกของผู้รับบริการ และลดภาระการเดินทาง รวมถึง กระดาษที่ใช้อยู่

2.การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งธุรกิจประกันได้ขยายไปรับประกันภัยด้านเกษตร คิดว่า เราต้องดูเรื่องแม่นยำพยากรณ์ภาวะภูมิอากาศ แต่การเปลี่ยนแปลงภาวะภูมิอากาศ ไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ แต่รวมถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นนโยบายที่พูดกันทั่วโลก

ทั้งนี้ นโยบายด้านการเงินนั้น ได้พูดกันในเรื่องการระดมทุนผ่านสภาบันการเงินต่างๆนั้น ในอนาคตควรมุ่งไปทางไหน ก็ชัดเจน ในเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดหรือส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“หนึ่งในนโยบายรัฐบาล คือ การเปลี่ยนใช้รถยนต์จากระบบน้ำมันไปสู่การไฟฟ้า เรามีแผนชัดเจน ฉะนั้น ธุรกิจประกันก็ต้องมองว่า ธุรกิจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะสนองต่อผู้บริโภคอย่างไร”

3.การปรับตัวรองรับสังคมสูงอายุ โดยตั้งแต่ปี 2565 ขึ้นไป สัดส่วนผู้สูงอายุจะมากกว่า 20% ของจำนวนประชากร ถ้ามองเรื่องหลักประกันในชีวิต แหล่งที่จะออมได้คือประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ซึ่งในระหว่างทางก็มีผลตอบแทนให้กับเรา ก็แล้วแต่ผลิตภัณฑ์ที่จะออกแบบให้ตรงความต้องการประชาชน

4.การปรับตัวให้รองรับความจำเป็นของรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสิ่งที่เรายังขาดไป คือ ความคลอบคลุมธุรกิจประกันภัยในการรับประกันเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ท่าเรือ ถนนต่างๆ

5.การปรับตัวรับเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาองค์รวมโดยคำนึงการใช้ประโยชน์ชีวภาพไม่ว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารและวัสดุสามารถหมุนเวียนในระบบเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต้องบริหารความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับความแม่นยำในการคาดการณ์ในอนาคต ทดสอบความอ่อนไหว คิดว่า สำคัญต่ออุตสาหกรรมประกันภัยที่ควรมีเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้