เครดิตบูโรเผยโควิดทำลูกหนี้ตกชั้นพุ่ง

เครดิตบูโรเผยโควิดทำลูกหนี้ตกชั้นพุ่ง

ผู้บริหารเครดิตบูโรเผยผลสุ่มตรวจลูกหนี้ช่วงโควิด พบลูกหนี้ตกชั้นเพิ่ม พร้อมดึงผู้ให้บริการแพลทฟอร์มการเงินร่วมแชร์ข้อมูล หวังรากหญ้ามีฐานข้อมูลเข้าถึงสินเชื่อ ผู้บริหารแพลทฟอร์มการเงินชี้ข้อมูลทางเลือกสามารถสร้างเป็นเครดิตสกอร์เพื่อให้บริการการเงินได้

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ The Power of Data for Inclusive and Resilient Finance: ใช้ข้อมูลอย่างไรให้ทรงพลังและยั่งยืน ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่า เครดิตบูโรเป็นถังข้อมูลในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการก่อหนี้และการชำระหนี้ของผู้คนตั้งแต่ปี 2545 ในถังข้อมูลของเครดิตบูโรปัจจุบันจะมีอยู่ 2 ถัง โดยถังที่หนึ่ง คือ ถังข้อมูลที่มีตัวตนและมีความส่วนตัวสูงมาก ตอนนี้เราเก็บข้อมูล 31 ล้านลูกหนี้ ประมาณ 120 ล้านบัญชี และถังที่สอง คือ ถังข้อมูลลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล 3.4 แสนบริษัท มีบัญชีอยู่ 4.5 ล้านบัญชี

เขากล่าวว่า ในปีหน้า เราจะแยกแยะได้ว่า บุคคลธรรมคนไหนเป็นเอสเอ็มอี และ นิติบุคคลรายไหนเป็นนิติบุคคลที่เรียกว่าเอสเอ็มอี ฉะนั้น จะมีถังข้อมูลตรงกลางที่เรียกว่า เอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถระบุได้ชัดว่า คนนี้กู้ไปใช้จ่ายเพื่ออะไร

สำหรับถังที่มีความสำคัญ คือ ถังที่เราตัดตัวตนออก กล่าวคือ เอาชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประชาชนออก ให้เหลือแต่โค้ด และเก็บเป็นข้อมูลทางสถิติ เราจะไม่รู้เลยว่า ใครเป็นใคร ข้อมูลนี้ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาเราเก็บมาแล้ว 12 ปี ส่วนนิติบุคคลเราเก็บมา 10 ปีย้อนหลัง เราจึงเห็นพฤติกรรมของผู้คน

ทั้งนี้ ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 เรานำข้อมูลลูกหนี้บุคคลธรรมดาสุ่มมา 3 ล้านคน หรือ 10% ของฐานข้อมูล มาวิ่งด้วยบูโรสกอร์ เพื่อดูว่า อนาคตมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร เราพบว่า มีคนตกเกรด และพบข้อมูลว่า ในอดีตคนไทย 100 คน จะพบว่า เป็นหนี้เสีย 16 คน ปัจจุบันอยู่ที่ 19 คน และพบว่า คนที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี คือ คนที่ติดกับดักหนี้

“ถ้ามองไกลๆข้อมูลชุดนี้จะตอบโจทย์การสร้างนโยบายช่วยเหลือผู้คน นี่คือ วิธีการใช้ฐานข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมการก่อหนี้และชำระหนี้เพื่อออกแบบนโยบายที่จะตอบโจทย์ว่า ควรจะทำตรงไหนกับใคร อย่างไร ให้ถูกที่ถูกเวลา โดยใช้ฐานข้อมูลจริง โดยไม่ไปแตะPrivacy”

ทั้งนี้ ประมาณปี 2560 ทางเราได้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เข้ามาเชื่อมข้อมูลกับเครดิตบูโร และพบว่า ลูกค้าของธ.ก.ส.กว่าครึ่งใช้แค่บริการธ.ก.ส.นั่นหมายความว่า เรากำลังสะสมคนที่อยู่นอกระบบและพบว่า สถาบันการเงินเล็กๆในต่างจังหวัดเริ่มเป็นสมาชิกของเรามากขึ้น และมีแพลทฟอร์มหลายบริษัทเริ่มมาหารือเพื่อเป็นสมาชิกกับเราปัจจุบันเรามีสมาชิกอยู่ 110 แห่ง

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร Grab (ประเทศไทย)กล่าวว่า ในระบบของ Grab จะประกอบด้วยคนหลายภาคส่วน ซึ่งส่วนที่คิดว่า เป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการทางการเงินหลักๆ คือ กลุ่มร้านค้าและคนขับ

เราเป็นแพลทฟอร์มที่ต้องการสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งสาเหตุหลักที่ร้านค้าอยากร่วมกับเรา คือ ต้องการขายสินค้าให้ได้มากขึ้น ส่วนคนขับ ก็ต้องการสร้างงานสร้างอาชีพ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้ เรื่องการเข้าถึงบริการการเงิน

เขากล่าวว่า ถ้าไปดูสถิติ ยังมีคนไทยมากกว่าครึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะบริการสินเชื่อ เพราะวิธีการปัจจุบันที่สถาบันการเงินให้บริการอยู่ คือ ต้องมีข้อมูลแบบใดแบบหนึ่ง หรือ ข้อมูลประวัติการเงิน หรือต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งกลุ่มร้านค้าเล็กๆและคนขับจะไม่มีข้อมูลนี้

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นที่เราให้บริการการเงิน เราพบว่า ปัญหาใหญ่ๆ คือ เป็นหนี้นอกระบบ และ ไม่มีข้อมูลทางด้านการเงินในการขอสินเชื่อ ที่เราทำ คือ เอาข้อมูลที่มีผ่านการร่วมทำงานกับเราทั้งยอดขายและรายได้มาวิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ ภายหลังการปล่อยสินเชื่อเราพบว่า กลุ่มคนที่เราปล่อยสินเชื่อนั้นเป็นหนี้เสียน้อยมากเมื่อเทียบกับการปล่อยสินเชื่อผ่านระบบธนาคาร

เมื่อถามว่า ถ้าธุรกิจต่างๆสามารถให้บริการการเงินได้ ยังจำเป็นต้องมีเครดิตบูโรหรือไม่ เขากล่าวว่า ทุกประเทศยังจำเป็นต้องมีศูนย์กลางข้อมูลเครดิต จริงอยู่ว่าวันนี้ เราทำเครดิตสกอร์ แต่ปัญหา คือ ข้อมูลของคนรากหญ้าไม่ได้อยู่ในระบบข้อมูลของประเทศ ทำให้เข้าไม่ถึงบริการการเงิน เราจึงเข้าไปทำข้อมูล และเชื่อว่า ในอนาคตเรามองว่า ระยะสั้นระยะกลางจะเกิดภาพแพลทฟอร์มอื่นๆ โดยภาคเอกชนที่จะเข้ามาให้บริการ

“จุดที่น่าสนใจ คือ การเชื่อมต่อข้อมูลของแพลทฟอร์มย่อยของภาคเอกชนกับระบบเครดิตบูโรได้อย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพราะว่า วันนี้สมมติแกรปอยากเชื่อมข้อมูลกับเครดิตบูโรแต่ลูกค้าเราไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลก็ไม่เกิดประโยชน์ ขณะเดียวกัน ทางเครดิตบูโรก็อยากจะเห็นว่า และรากหญ้ามีเครดิตอย่างไร ก็น่าจะเป็นแนวทางที่เราจะเชื่อมโยงกันในอนาคต”

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ Shopee กล่าวว่า จากการให้บริการของ Shopee นั้น เราพบว่า เราเห็นความต้องการที่มากขึ้นไม่ว่าจากฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยในฝั่งของผู้ขายนั้น เขาต้องการได้รับความรู้ในการขาย การขยายธุรกิจ ส่วนฝั่งของผู้ซื้อนั้น เราก็เก็บพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อนำมาให้บริการทางการเงินบนแพลทฟอร์มของเรา

ทั้งนี้ เรายังเชื่อว่า ยิ่งระบบมีข้อมูลมากเท่าไหร่ หรือสามารถแชร์ข้อมูลร่วมกันได้ น่าจะเกิดประโยชน์ในองค์รวม อย่างไรก็ดี ทางเราเพิ่งเริ่มที่จะให้บริการสินเชื่อ จึงมีข้อมูลไม่มากนักและพยายามจำกัดขอบเขตเพื่อไม่ให้มีการก่อหนี้เกินตัว

นายตฤบดี อรุณานนท์ชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มันนี่เทเบิล จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า จากข้อมูลด้านHRที่เราเก็บมา 5 ปี เราก็นำมาแตกไลน์ในการให้บริการทางการเงิน ซึ่งทำผ่านแอพลิเคชั่นที่สามารถเบิกเงินเดือนล่วงหน้าได้ โดยแปลงเงินเดือนเป็นเงินรายวันได้ ที่เราทำได้ เพราะเรามีข้อมูลรายได้ สภาพคล่องและรายได้ในอนาคตของมนุษย์เงินเดือน ปัจจุบันเรามีฐานข้อมูลอยู่ 5 แสนคน ก็เชื่อว่า ด้วยข้อมูลที่เรามีเมื่อรวมกับข้อมูลของผู้ให้บริการด้านอื่นจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเงินได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงโควิดเราพบว่า กลุ่มเอสเอ็มอีเริ่มมีฐานะการเงินที่อ่อนแอ เริ่มจ่ายเงินเดือนล่าช้าในลักษณะทยอยจ่าย ตรงนี้ ก็จะกระทบกับเราด้วย