"โฆษกกมธ.เงินกู้โควิด" แนะปรับเกณฑ์เยียวยา ทุกพื้นที่ให้เท่าเทียม

"โฆษกกมธ.เงินกู้โควิด" แนะปรับเกณฑ์เยียวยา ทุกพื้นที่ให้เท่าเทียม

โฆษก กมธ.ติดตามเงินกู้โควิด 5แสนล้าน เผยผลติดตามงบ "สธ." ระบุอนุมัติแล้ว หมื่นล้าน จากยอด 3หมื่นล้านบาท เผยข้อเสนอแนะให้ปรับเกณฑ์เยียวยาเท่าเทียม ชี้มาตรการคุมโควิด พื้นที่สีแดง-แดงเข้ม เข้มข้นไม่แตกต่างกัน

          นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญเพื่อพิจารณาติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5แสนล้านบาท สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมนัดที่ 3 ซึ่งเชิญหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขเข้าชี้แจง ว่า ภายใต้การกู้เงินตามพ.ร.ก.ดังกล่าว มีวงเงินเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับแพทย์และสาธารณสุข รวม 3หมื่นล้านบาท โดยตัวแทนของหน่วยงานได้ชี้แจงว่าสามารถอนุมัติงบไปได้แล้วกว่า 1หมื่นล้านบาท และแจกแจงแผนการจัดหาวัคซีนรวมถึงการนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ และ ATK

 

          นายสิริพงศ์ กล่าาวด้วยว่าสำหรับการฉีดวัคซีนนั้น เบื้องต้นสามารถฉีดได้แล้วรวม 65 ล้านโดส จากที่ตั้งเป้า 100 ล้านโดส ทั้งนี้มีแผนถึงการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์โดส ที่กมธ.ฯ ให้ข้อเสนอแนะว่าควรพิจารณาจัดสรรให้กับประชาชนที่รับวัคซีนทางเลือกไปก่อนหน้านั้นด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่การนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์นั้น เบื้องต้นจะนำเข้ามาใจปริมาณที่รักษาได้ 1 เดือน คือ 5หมื่นเม็ด จาก 2แสนเม็ด เพราะยาดังกล่าวแม้จะได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา แล้ว แต่ไม่มีสิทธิบัตร กล่าวคือ ไม่มีลิขสิทธิ์ ดังนั้นในประเทศ อื่นๆ เช่น อินเดีย เวียดนาม จึงสามารถผลิตได้และในอนาคตจะมีราคาถูกลง

          โฆษก กมธ.ฯ กล่าวด้วยว่าในงานด้านสาธารณสุข กมธ. ยังได้เสนอความเห็นไปยังหน่วยงานให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้อง เช่น งบก่อสร้างห้องความดันลบ ที่ได้รับอนุมัติในงบเงินกู้ก้อนแรก แต่จนถึงขณะนี้พบว่ามีการดำเนินงานที่ล่าช้า นอกจากนั้นยังให้ความเห็นด้วยว่าการเยียวยาประชาชนในประเทศควรได้รับการเยียวยาและช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม จากเดิมที่แบ่งการช่วยเหลือตามการจัดลำดับสีที่พบการระบาดรุนแรง เนื่องจากมาตรการควบคุมโรคในจังหวัดสีแดง หรือ สีแดงเข้ม ไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งมาตรการเปิด-ปิดร้านอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการ ประชาชนได้รับผลกระทบ แต่กลับพบว่าได้รับการช่วยเหลือต่างกัน โดยเฉพาะการเยียวยาผู้ประกันตน 

          “ในการประชุมนัดหน้า กมธ.ฯ จะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึง สำนักงานหลักประกันสุขภาพ สำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ข้อมูลและรายละเอียด ทั้งนี้ กมธ.มีความเห็นเบื้องต้นว่า ควรนำกองทุนประกันสังคม ส่วนที่จะจ่ายให้ผู้ประกันตนตอนเกษียณ ออกมาใช้ก่อน แล้วค่อยเก็บออมกันใหม่หลังภาวะวิกฤตคลี่คลาย เป็นต้น”โฆษก กมธ. กล่าว.