ผู้เชี่ยวชาญหวั่นประเทศรายได้น้อยเข้าไม่ถึงยาโมลนูพิราเวียร์

ผู้เชี่ยวชาญหวั่นประเทศรายได้น้อยเข้าไม่ถึงยาโมลนูพิราเวียร์

นักเคลื่อนไหวเพื่อการเข้าถึงยาเตือน ขณะที่โลกกำลังเร่งจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ ประเทศยากจนอาจพลาดอีกรอบเหมือนตอนสั่งวัคซีน จี้ยกเลิกสิทธิบัตรเพื่อการเข้าถึงในวงกว้าง

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า หลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกำลังเร่งสั่งยาโมลนูพิราเวียร์ ของเมอร์ค บริษัทยาสหรัฐ เพื่อรักษาโควิด-19 ที่ขณะนี้กำลังรอให้สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) อนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน ถ้าผ่านการอนุมัติจะเป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานตัวแรกที่ใช้รักษาโควิด-19

ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ “แอร์ฟินิตี” เผยว่า  10 ประเทศและดินแดนลงนามข้อตกลงหรือกำลังเจรจาจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ ในจำนวนนี้ 8 ประเทศและดินแดนอยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ซึ่งทั้งสามประเทศล้วนเริ่มต้นฉีดวัคซีนช้า

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ขณะที่ยาตัวนี้ส่อเค้าไปได้ดี พวกเขากังวลว่าบางคนอาจใช้ยาเป็นทางเลือกแทนวัคซีนที่ยังให้การป้องกันโควิด-19 ได้ดีที่สุด พร้อมเตือนว่าการเร่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ของเอเชียอาจซ้ำรอยวัคซีนเมื่อปีก่อน ที่ประเทศรวยได้ไปก่อนส่วนประเทศรายได้ต่ำกว่าไม่ได้

นางสาวราเชล โคเฮน ผู้อำนวยการ Drugs for Neglected Diseases Initiative ประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือแนะว่า ประวัติศาสตร์ต้องไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นกับวัคซีน

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้กล่าวด้วยว่า ประเทศรายได้ต่ำอาจเสียเปรียบเมื่อต้องใช้ยา  หากโมลนูพิราเวียร์ได้รับอนุมัติให้ใช้ ประเทศต่างๆ จำต้องตัดสินใจว่าจะให้คนที่มีอาการ หรือคนที่ตรวจแล้วพบว่าติดโควิด ซึ่งจำเป็นต้องเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ นั่นอาจเป็นปัญหาในบางประเทศ

สอดคล้องกับกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดนที่ยกย่องว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีแนวโน้มช่วยชีวิตคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่คนไม่ฉีดวัคซีนมีมากและเสี่ยงต่อการติดโควิด แต่การเข้าถึงยาก็ยังเป็นปัญหา

นางสาวลีนา เมนกาเน หัวหน้าฝ่ายรณรงค์การเข้าถึงยาประจำภูมิภาคเอเชียใต้ของกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดนชี้ว่า เมอร์คเป็นผู้คุมสิทธิบัตรและสามารถตัดสินใจได้ว่าประเทศใดจะได้ผลิตในราคาเท่าใด เธอเรียกร้องให้ยกเลิกสิทธิบัตรยาเพื่อเปิดให้นานาประเทศทั่วโลกผลิตโมลนูพิราเวียร์ได้ซึ่งมีแนวโน้มช่วยชีวิตคนได้มาก 

เช่นเดียวกับก่อนหน้าที่นักเคลื่อนไหวผลักดันให้ยกเลิกสิทธิบัตรวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่คำขอนี้ถูกรัฐบาลไม่กี่ประเทศขวางไว้ เช่น สหราชอาณาจักร