“ม.หอการค้าไทย”ประเมิน“น้ำท่วม”คาดเศรษฐกิจเสียหาย 1-2 หมื่นล.

“ม.หอการค้าไทย”ประเมิน“น้ำท่วม”คาดเศรษฐกิจเสียหาย 1-2 หมื่นล.

“ม.หอการค้าไทย” สำรวจความเห็น-ประเมินสถานการณ์ “น้ำท่วม” คาดเศรษฐกิจเสียหาย 1-2 หมื่นล้าน “GDP” ลดลง แต่ยังไม่เท่าปี 54 ชี้รัฐต้องไฟเขียวเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564 เว็บไซต์ คมชัดลึกออนไลน์ เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงการประเมินสถานการณ์ "น้ำท่วมที่สำรวจจากหอการค้าจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน 138 ราย เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 ว่า คาดเกิดความเสียหาย 10,000-20,000 ล้านบาท หรือใกล้เคียง 15,000 ล้านบาททำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.1-0.2% โดยความเสียหายแบ่งเป็นพืชเกษตร 6,349.51 ล้านบาท  สิ่งสาธารณะ4,972.20 ล้านบาท  การค้า 1,316.10 ล้านบาท บ้านเรือน 1,320.30 ล้านบาท ปศุสัตว์ 753.90 ล้านบาท และอื่นๆ 324 ล้านบาท

อ่านข่าว : หอการค้าไทย ชี้ เปิดกรุงเทพฯรับนักท่องเที่ยวต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70 %

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ความรุนแรงของ "น้ำท่วม" ครั้งนี้ ไม่เท่ากับปี 54 ที่ครั้งนั้นศูนย์ฯคาดการณ์ความเสียหาย 1.4 ล้านล้านบาท เพราะ "น้ำท่วม" พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่มีโรงงานผลิตสินค้าส่งออกจำนวนมาก กระทบต่อการผลิต และการส่งออก แต่ครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร และบ้านเรือน ที่แม้ได้รับผลกระทบมาก แต่มูลค่าความเสียหายไม่มากนัก ที่สำคัญผู้ตอบส่วนใหญ่ บอกว่า ระยะเวลาการท่วมจะอยู่เพียง 8-14 วัน หรือเฉลี่ย 9 วัน ไม่ได้ท่วมขังนานหลายเดือนเหมือนปี 54

อย่างไรก็ตาม ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การชดเชยผลผลิตทางการเกษตร หรือสนับสนุนเงินทุนเพื่อซ่อมแซมกิจการที่เสียหาย,เงินชดเชย "น้ำท่วม", มาตรการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ เช่น ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขการกู้ง่าย, สร้างแหล่งกักเก็บน้ำและฝายชะลอน้ำ 

ส่วนผลสำรวจพฤติกรรมใช้จ่ายช่วงกินเจปี 64 ที่สำรวจจาก 1,208 ตัวอย่างทั่วประเทศ วันที่ 26-29 ก.ย.64 พบว่า มีมูลค่าใช้จ่าย 40,147 ล้านบาท ติดลบ 14.5% จากปี 63 ที่ 46,967 ล้านบาท ติดลบครั้งแรกในรอบ 14 ปี ตั้งแต่สำรวจครั้งแรกเมื่อปี 51 เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ตกงาน รายได้ลดลง, ค่าครองชีพสูง-สินค้าราคาแพง และการแพร่ระบาดของโควิด-19

อีกทั้งประชาชนยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงต้องการให้รัฐคลายล็อกดาวน์ และเปิดประเทศ เพื่อสร้างรายได้ ฟื้นเศรษฐกิจ แม้ยังกลัวกับการระบาดรอบใหม่ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ และยังฉีดวัคซีนไม่ครบ

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า "น้ำท่วม" ทำให้เงินหายไป 10,000-20,000 ล้านบาท ดังนั้น ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ รัฐต้องเปิดเมืองรับต่างชาติ หากมีต่างชาติเที่ยวไทยเดือนละ 100,000 คน แต่ละคนใช้จ่าย 50,000 บาท/ทริป จะมีเงินเติมในระบบเดือนละ 10,000-20,000 ล้านบาท เท่ากับความเสียหายจากน้ำท่วม 

นอกจากนี้ รัฐต้องเติมเงินโครงการคนละครึ่งเพิ่มอีก 1,500 บาท จากเดิม 1,500 บาท ซึ่งจะมีเงินหมุนในระบบได้อีกกว่า 90,000 ล้านบาท รวมกับเงินของประชาชนอีก 90,000ล้านบาท

รวมถึงต้องฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน เพราะทำให้คนมีเงินเอาเงินของตัวเองมาใช้จ่าย ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้ไม่ต่ำกว่า 1% แต่รัฐยังต้องใช้มาตรการการคลังต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีจนถึงตรุษจีน เพื่อเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจปีหน้าโตได้ไม่น้อยกว่า 5%

ปีนี้เศรษฐกิจไทยโต 1% แต่ปีหน้าต้องทำให้โตมากกว่า 5% หรือ 6-8% ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ ถ้ารัฐสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ท่องเที่ยวกลับมา, ประคองค่าเงินบาทให้ทรงตัวอ่อนสร้างแต้มต่อให้กับการส่งออก เร่งฉีดวัคซีนและคุมการแพร่ระบาด เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จ้างงานซื้อวัตถุดิบในประเทศ ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ดึงต่างประเทศเข้ามาทำงานและเที่ยวไทย