เทียบชัด! "ระบบตั๋วร่วม" รถไฟฟ้าไทย VS ทั่วโลก

เทียบชัด! "ระบบตั๋วร่วม"  รถไฟฟ้าไทย VS ทั่วโลก

วันนี้ (30 ก.ย.) เป็นวันสุดท้ายของผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS จำนวนหลายแสนคนที่จะสามารถใชัตั๋วรายเดือนได้เป็นวันสุดท้าย เพราะ BTS ประกาศยกเลิกตั๋วรายเดือน

การยกเลิกตั๋วรายเดือนนี้ จะทำให้ผู้โดยสารรายวันจำนวนหลายแสนคนจำเป็นต้องเจียดเงินในกระเป๋าจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 546-756 บาทต่อเดือน ซ้ำเติมเพิ่มความฝืดเคืองจากพิษเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19

หากพิจารณาจากข้อมูลข้อเท็จจริงจากตัวเลขแล้วจะพบว่า คนไทยนั้นมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ต่อหัว ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ชัดว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหัวที่คนไทยจ่ายคือ 28.3 บาท หากคิดสองเที่ยวไปกลับแล้วจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายนี้ คิดเป็น 20% ของค่าแรงเฉลี่ยรายวัน

ขณะที่ในเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส โตเกียว ล้วนมีค่าใช้จ่ายในระบบรางที่ถูกมากเมื่อเทียบกับรายได้ต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการคิดราคาที่พิเศษเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลง เช่น ระบบตั่วร่วม ระบบการคิดเงินแบบนอกเวลาเร่งด่วน (Off-peak) หรือแม้กระทั่งระบบการอนุโลมค่าโดยสารบางเที่ยวหากเดินทางภายในระยะเวลาที่จำกัด

ในบางเมืองใหญ่ อาทิ นิวยอร์ก ปารีสใช้ระบบการคิดเงินแบบเหมาจ่ายเที่ยวเดียว คือไม่ว่าจะเดินทางไกลแค่ไหนก็จ่ายเท่ากัน ขณะที่บางเมืองอาทิ ลอนดอน โตเกียว ใช้ระบบการคิดเงินแบบไทยคือจ่ายจริงตามระยะทาง แต่สิ่งที่ 4 เมืองใหญ่นี้มีเช่นเดียวกันกับอีก 240 เมืองใน 60 ประเทศ ขณะที่ไทยไม่มีคือระบบตั๋วร่วม จะขึ้นรถไฟฟ้าสายไหน รถเมล์หรือรถรางก็ง่ายในบัตรใบเดียวและมีแนวโน้มถูกลง ไม่เหมือนกันไทยที่แยกจ่ายและจ่ายเต็ม

เช่นเดียวกับในไทยที่รถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์นั้นก็มีเจ้าของสัมปทานของเส้นนั้นๆ แต่สิ่งที่รัฐทำได้และเป็นหน้าที่คือประสานและหรือควบคุมให้องคาพยพในระบบร่วมเหล่านี้เข้ามานั่งคุยแบ่งเค้กค่าโดยสารกันให้ลงตัว เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนผู้โดยสาร พูดง่ายๆ ว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งมีหรือเป็นปัญหาเกิดใหม่ขึ้นในโลก ปัญหานี้เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้วและประเทศอื่นก็แก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงมาเป็นหลายสิบปีแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ รายได้ของเจ้าของสัมปทานในเมืองใหญ่เหล่านี้ยังมาจากหลายทาง อาทิ ค่าโฆษณา ค่าพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณโดยรอบพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นที่พัฒนาพื้นที่สถานีจนกลายเป็นแหล่งช้อปปิ้ง เป็นต้น ขณะที่รถไฟฟ้าในไทยอย่าง BTS นั้นพึ่งพารายได้ถึง 90% จากธุรกิจในระบบขนส่งมวลชน ซึ่งรวมถึงค่าโดยสาร

หากมองให้ลึกลงไปถึงตัวเลขสถิติจะพบว่า จำนวนผู้โดยสารในระบบ BTS นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มจาก 115.8 ล้านคนต่อปีในปี 2547 มาเป็น 247.6 ล้านคนต่อปีในปี 2562 คือเพิ่มขึ้นกว่า 132 ล้านคน หรือเรียกได้ว่าภายในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้น รายรับที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจนั้นไม่น้อยเลย คิดง่ายๆ ก็เอาจำนวน 132 ล้าน คูณด้วยค่าโดยสาร

แน่นอนว่า การปิดเมืองจากโควิดทำให้ยอดผู้เดินทางเฉลี่ยต่อวันนั้นลดลงถึงครึ่งหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือรายได้จากระบบธุรกิจขนส่งมวลชนซึ่งคิดเป็นเส้นเลือดหลักของ BTS คือกว่า 90% ของพอร์ตนั้นไม่ได้ลดลงเลยแต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้เอง จึงทำให้ประชาชนคนไทยเข้าใจได้ยากหน่อยว่า ทำไมค่ารถไฟฟ้าเมืองไทยมันถึงแพงจัง ไม่ต้องพูดถึงคำสัญญาเรื่องตั๋วร่วมที่ไม่เกิดขึ้นเสียที ทำไมค่ารถไฟฟ้าโดยเฉลี่ยถึงเพิ่มขึ้นในช่วงที่ประชาชนแร้นเค้นแสนลำบากในทุกหย่อมหญ้า จะหันหน้าไปทางไหนก็ไม่มีที่พึ่ง นี่คือคำถามที่สังคมต้องการคำตอบ