ชูอาหารจากเครื่องแกงและน้ำพริก ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ชูอาหารจากเครื่องแกงและน้ำพริก ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

แพทย์แผนไทยชูรายการอาหารจากเครื่องแกงและน้ำพริกของไทย  ช่วยควบคุมไขมันและน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 

  นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 29 กันยายน ของทุกปี คือ วันหัวใจโลก (World Heart Day) ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญกับโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชากรโลก และโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases : NCDs) ที่มีสาเหตุสำคัญมาจากการมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลและไขมันสูง เช่น อาหาร junk food, ชาเย็นและ กาแฟเย็น ฯลฯ หากประชาชนไม่ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจากโรคดังกล่าวได้
        กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงขอแนะนำสมุนไพรที่เป็นส่วนผสมอยู่ในเครื่องแกงและน้ำพริก ของไทย ซึ่งมีสรรพคุณช่วยย่อย เพิ่มการเผาผลาญพลังงาน มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยควบคุมไขมันและน้ำตาลในเลือดป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ กระเทียม, ข่า, ตะไคร้, หอมแดง, กระชาย, พริกไทย และขิง ซึ่งสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายรายการ เช่น แกงป่า, แกงส้ม, แกงเลียง และน้ำพริกต่างๆ เช่น น้ำพริกหนุ่ม, น้ำพริกอ่อง, น้ำพริกปลาทู และน้ำพริกมะขามป้อม เป็นต้น  

       นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มสมุนไพรไทยที่ช่วยควบคุมไขมันในเลือดได้ คือ น้ำหรือชากระเจี๊ยบแดง วิธีทำ โดยนำกลีบดอกกระเจี๊ยบแดงแบบแห้งหรือผงขนาด 2 – 3 กรัม ชงในน้ำร้อน 120 - 200 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ 3- 5 นาที รับประทานวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร จากการศึกษาวิจัยพรีคลินิก พบว่า กระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ลดความดันและไขมันในเลือด โดยเฉพาะไขมันชนิดที่ไม่ดีต่อร่างกาย (LDL) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis)
     และน้ำตรีผลา ซึ่งประกอบด้วยสมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม ในอัตราส่วน 1:1:1 รูปแบบและวิธีการใช้ ทำได้เช่นเดียวกันกับกระเจี๊ยบแดง  จากการศึกษาวิจัยทั้งในห้องปฏิบัติการ ในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ได้ผลออกมาในทิศทางเดียวกันคือ ตรีผลา สามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์, ไขมันชนิดที่ไม่ดีต่อร่างกาย (LDL) และไขมันโดยรวมได้ แม้ว่าอาจจะมีผลข้างเคียงเล็กน้อย คือ อาการถ่ายเหลว เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ แต่ไม่มีรายงานความเป็นพิษต่อตับและไต

      นอกจากสมุนไพรในเครื่องแกง รายการอาหาร และน้ำสมุนไพรที่แนะนำแล้ว ยังต้องรู้จักปรับพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดควบคู่กันไปด้วย โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  งดการสูบบุหรี่ งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำกัดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ
      และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคให้ปรึกษาแพทย์แผนไทยในสถานบริการสุขภาพของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก  https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line@DTAM