ต่างชาติซื้อ "อสังหาฯ" ต้องคุมราคา-โซนนิ่ง

ต่างชาติซื้อ "อสังหาฯ" ต้องคุมราคา-โซนนิ่ง

เมื่อไทยเปิดแผนดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศ ด้วยการยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าระยะยาวและสมาร์ทวีซ่า ไม่ต้องมีหนังสือแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ หากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน เปิดทางให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน เรื่องนี้ต้องคุมโซนให้ดี

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ก.ย.2564 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ประเด็นไฮไลต์ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง คือ ข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการ ยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าผู้พำนักอาศัยระยะยาวและสมาร์ทวีซ่า ไม่ต้องมีหนังสือแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ หากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน

ที่สำคัญ เปิดทางให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขณะนี้อยู่ระหว่างมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาแก้ไขกฎหมายการถือครองที่ดิน โดยกำหนดเวลาทำงานภายใน 90 วัน

การที่รัฐบาลพิจารณาเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น แม้จะยังไม่มีรายละเอียดการศึกษาร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ แต่ก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ และเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาตลาดอสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่วนฝ่ายคัดค้านมองว่ากระทบกลุ่มลูกค้าคนไทย และไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เนื่องจากปัญหาโควิด-19 ยังไม่จบง่ายๆ การที่ต่างชาติจะเข้ามาซื้อและเช่า “อสังหาฯ” ในไทยเป็นเรื่องไกลเกินไป

 

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ รายงานการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศล่าสุด หน่วยลดลง 28.8% มูลค่าหดตัว 10.7% ต่อเนื่องจากปีก่อนที่หดตัวมาก ส่งผลเข้าสู่ภาวะถดถอย คือมีหน่วยเหลือรอขายกว่า 2.8 แสนหน่วย

แม้ ธอส.จะสนับสนุนการออกมาตรการ แต่มีเงื่อนไขในวงจำกัดสัดส่วนราคาและกำหนดพื้นที่ ต้องลงรายละเอียดบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม หรือการเปิดให้เฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาแพง อาจจะกำหนดราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป เพราะกำลังซื้อคนไทยที่ผ่านมาเฉลี่ย 2-3 ล้านบาท และไม่เกิน 5 ล้านบาท

สำหรับพื้นที่หรือโซนนิ่ง รัฐบาลสามารถกำหนดพื้นที่หลัก อาจเป็นรูปแบบโซนเศรษฐกิจของ กทม. หรือเมืองท่องเที่ยว เพื่อสอดรับกลุ่มเป้าหมายต่างชาติที่มีศักยภาพ และมีกำลังซื้อสูง

 

เราเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างสมดุลเสียงสนับสนุนและคัดค้าน ควรรับฟังทั้งสองฝ่าย เพื่อให้มาตรการที่ออกมาตรงจุด เกาถูกที่คัน สามารถกระตุ้นตลาดอสังหาฯ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างแท้จริง

จุดเด่นเฉพาะตัวของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาฯ ควบคู่การท่องเที่ยว นอกจากเพิ่มการจ้างงานจำนวนมาก แล้วยังต่อยอดธุรกิจให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ กลุ่มผู้ค้ารายย่อยและพ่อค้าแม่ค้า

เราเห็นว่าต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมีความต้องการซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทยค่อนข้างสูง การเปิดโอกาสในโซนท่องเที่ยว เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ภายใต้เงื่อนไขราคาที่เหมาะสม พร้อมวางกรอบกฎหมายที่ชัดเจนโปร่งใส ยึดผลประโยชน์คนหมู่มาก จะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง

ที่สำคัญการอุบัติขึ้นของโรคระบาดครั้งนี้ คือบทเรียนที่ตอกย้ำว่าต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพารายได้ท่องเที่ยวหรือด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะไม่มั่นคง ต้องแก้ไขโดยด่วน