ข้อสังเกต 3 ข้อ กับการหลอกลวงลงทุนแชร์ลูกโซ่

ข้อสังเกต 3 ข้อ กับการหลอกลวงลงทุนแชร์ลูกโซ่

สัปดาห์นี้เราพักจากประเด็นร้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอเวอร์แกรนด์ เรื่องการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจธนาคาร รวมถึงเรื่องของการขยับเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาล มาเป็นประเด็นเรื่องของการหลอกลวงลงทุนแชร์ลูกโซ่ ที่เราคงยังได้ยินกันอย่างสม่ำเสมอ

ทุกครั้งมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากน้อยต่างกันไป แต่รวมๆ มูลค่าความเสียหายอย่างน้อยต้องมีหลายร้อยล้านบาทขึ้นไปต่อครั้ง ตัวอย่างเช่น แชร์แม่มณี FOREX3D รวมถึงบ้านออมเงินต่างๆ ซึ่งพัฒนาการในเรื่องของการหลอกลวง สร้างความน่าเชื่อถือ อ้างอิงกับการลงทุนประเภทต่างๆ แตกต่างกันไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยน สกุลเงินดิจิทัล การปล่อยกู้ การร่วมธุรกิจ เช่น ทัวร์ต่างประเทศ แพลตฟอร์มออนไลน์ 

โครงการที่เตรียมจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในต่างประเทศ ลงทุนสินค้าเกษตร หรือแม้แต่ฟาร์มปศุสัตว์ออนไลน์ซึ่งทั้งหมดนี้นำเสนอผลตอบแทนที่จูงใจ และไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการลงทุนอาศัยการแนะนำปากต่อปาก ไม่เน้นการโปรโมทในช่องทางอื่นมากนัก เพื่อลดโอกาสในการโดนตรวจสอบแต่สุดท้ายจะจบลงที่เมื่อถึงจุดหนึ่ง นักลงทุนจะไม่ได้รับเงินลงทุนตามที่เคยได้รับการสัญญาไว้ และไม่สามารถติดตามหรือเอาผิดได้ จนต้องมีการรวมตัวไปฟ้องร้องและเป็นเรื่องราวตามมาดังเช่น ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ และแม้ทางการจะพยายามป้องกันหรือเตือนนักลงทุนมากเพียงใด กรณีพวกนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เหมือนเล่นเกมแมวจับหนู

วันนี้เราจะพูดถึงประเด็นดังกล่าวกันอีกครั้ง หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีกรณีคล้ายๆ กันเกิดขึ้นกับเรื่องของการเทรดหุ้นผ่านแพลตฟอร์มที่อ้างว่ามีประกันและการันตีกำไรทุกวัน รวมถึงอีกเคสที่เปิดให้นักลงทุนซื้อขายปศุสัตว์ออนไลน์เหมือนเช่นซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบหนึ่ง โดยเรื่องของการหลอกลวงลงทุนต่างๆ เหล่านี้ มักจะมาพร้อมกับลักษณะร่วมในรูปแบบใดแบบหนึ่งหรือหลายแบบ วันนี้เราจะมานำเสนอ 3 ประเด็นหลักๆ กันครับ

ประเด็นแรก คือ การนำเสนอผลตอบแทนสูงกว่าปรกติที่มาพร้อมกับการการันตีในรูปแบบใดแบบหนึ่ง เช่น การันตีผลตอบแทนจากสถาบันการเงินชื่อดัง หรืออ้างว่ามีผู้คำประกัน ส่วนการลงทุนก็จะแตกต่างกันไป โดยหลังๆ อาจจะมาในรูปของการนำเสนอสกุลเงินดิจิทัล หรือร่วมลงทุนในแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขาย ซึ่งเป็นการลงทุนที่ตามปรกติก็ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจระดับหนึ่งในการตรวจสอบอยู่แล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของตลาดเทคโนโลยี Blockchain รวมถึงการต่อขยายไปยังรูปแบบ NFT (Non-Fungible Token) เกมส์ในลักษณะของ Play-to-Earn ต่างๆ ทำให้เส้นแบ่งของการลงทุนกับการหลอกลวงบางมากขึ้น จากเดิมที่เราคุ้นเคยกับการซื้อขายตราสารหนี้ ตราสารทุนผ่านตลาดเงินที่ตรวจสอบได้ไม่ยาก เป็นการลงทุนออนไลน์ รวมถึงเส้นแบ่งของผลตอบแทนที่มีความหวือหวามากขึ้น

ทำให้ผลตอบแทนที่เมื่อก่อนเราสังเกตได้ไม่ยากว่าสูงเกินจริง กลับดูแล้วสมเหตุสมผลอ้างอิงได้มากขึ้น แต่สิ่งที่แตกต่างกันแน่นอนคือเรื่องของการการันตีผลตอบแทนจากการลงทุนในโลกของการลงทุน ไม่มีอะไรสร้างผลตอบแทนโดยปราศจากความเสี่ยงอย่างสิ้นเชิง ผลตอบแทนคาดหวังมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงอาจจะมาในหลากหลายรูปแบบ

 โดยเฉพาะ ความเสี่ยงด้านราคา เนื่องจากราคาสินทรัพย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และความเสี่ยงด้านเครดิต หรือความเสี่ยงที่จะเราไม่ได้รับเงินลงทุนคืน ผลตอบแทนในระดับวันละ 1%ถึง 10% หรือ เดือนละ 10% ถึง 30% หรือมากกว่านั้นอาจจะมีความเป็นไปได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ หุ้นขนาดกลางและเล็ก แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจน คือ เรื่องของความสม่ำเสมอของผลตอบแทน ซึ่งเราน่าจะทราบกันดีกว่าการลงทุนในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงด้านราคาที่สูงตามผลตอบแทนคาดหวังนั่นเอง ดังนั้น หากมีคนนำเสนอผลตอบแทนในลักษณะเดียวกันที่มาพร้อมกับการการันตีผลตอบแทนแน่นอน ก็น่าจะสรุปได้ไม่ยากว่าความเสี่ยงด้านเครดิตนั้นจะต้องสูงมากๆ อย่างแน่นอน

ประเด็นที่สอง คือ รูปแบบของธุรกิจเน้นไปที่การชักชวนเครือข่ายให้มาร่วมลงทุน โดยยิ่งสามารถชักจูงคนได้มากเท่าไร ก็จะได้รับส่วนแบ่งในรูปแบบใดแบบหนึ่งเป็นการตอบแทน และที่สำคัญยิ่งชวนมากผลตอบแทนจะยิ่งมากเป็นทวีคูณ ซึ่งผิดสังเกตและแตกต่างไปจากการลงทุนในตลาดทุนอย่างแน่นอน

ประเด็นที่สาม คือ การนำเสนอเรื่องของการจดทะเบียนและการรับรองจากต่างประเทศ ให้ดูมีความน่าเชื่อถือ ส่งผลให้เราตรวจสอบได้ยากมากยิ่งขึ้นอาจจะมีปลอมแปลงเอกสาร มีตราประทับให้ดูน่าเชื่อถือ และอ้างอิงถึงประเทศขนาดเล็กหรือองค์กรในต่างประเทศที่เราไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่

สามประเด็นร่วมดังกล่าว ทำให้เราสังเกตการหลอกลวงลงทุนแชร์ลูกโซ่ได้ไม่ยาก โดยเรื่องของการหลอกลวงลงทุนอาจจะกำจัดให้หมดไปได้ยาก บ่อยครั้งไม่ได้เกิดจากความโลภ แต่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไว้ใจคนรู้จัก แต่หากนักลงทุนช่วยกันไตร่ตรองให้รอบคอบตรวจสอบก่อนลงทุนและแจ้งเบาะแสต่างๆ ก็อาจจะทำให้ปัญหาเรื่องของการหลอกลวงดังกล่าวบรรเทาลงตรวจทานซักนิดหากคิดจะลงทุน ดีที่สุดคือการตรวจสอบเป็นทางการจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 สายด่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) โทร. 1207สายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โทร. 1202 เป็นต้นครับ