บทวิเคราะห์ : เมื่อคริปโทผิดกฎหมายในจีน

บทวิเคราะห์ : เมื่อคริปโทผิดกฎหมายในจีน

ในปีนี้ ถือว่าเป็นปีที่หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก มีความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซี (คริปโท) เป็นอย่างมาก

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา (24 ก.ย. 64) จีนก็ได้ดำเนินมาตรการเข้มข้นในการห้ามดำเนินกิจกรรมทุกประเภทที่เกี่ยวกับคริปโท 

นโยบายก่อนหน้านี้ : มุ่งห้ามกิจกรรมในประเทศ
    ในช่วงที่ผ่านมา ทางการจีน ได้ดำเนินนโยบายกำกับคริปโทแบบเข้มงวดและห้ามกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับคริปโทภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ห้ามสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการระบบชำระเงิน และแพลตฟอร์มชำระเงิน (เช่น Alipay) ให้บริการชำระราคาด้วยคริปโท ห้ามผู้ประกอบธุรกิจระดมทุนด้วยคริปโท (ICO) ห้ามการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโท ห้ามขุดและทำเหมืองคริปโท นอกจากนี้ ทางการจีนยังได้ตามบล็อกแอคเคาน์ใน Weibo (โซเชียลมีเดียในจีนคล้าย Fb) ที่มีการนำเสนอข้อมูลของคริปโทสกุลต่าง ๆ ด้วย

 จีนกับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้
           ข้อสังเกตของผู้เขียน คือ นโยบายส่วนใหญ่ที่ออกไปก่อนหน้ามุ่งเน้นการห้ามกิจกรรมคริปโทในประเทศเป็นหลัก ซึ่งอาจจะยังได้ผลไม่เพียงพอต่อการจำกัดธุรกรรมคริปโทของประชาชนจีน และคงปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า แม้นโยบายในประเทศจะเข้มงวดเพียงใด แต่จำนวนนักลงทุนชาวจีน (China-based trader) รวมถึงยอด ผู้ถือครอง Crypto Wallets ในจีนยังคงอัตราส่วนที่สูง จนเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐ (Source : Financial Times) คำถามคือ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
           สำหรับคำตอบ คงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ด้วยสภาพของคริปโทเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง สามารถเคลื่อนย้ายหรือส่งผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยง่าย ดังนั้น ด้วยสภาพที่ติดตามได้ยากก็ประการหนึ่ง และด้วยลักษณะของธุรกรรมก็ถือเป็นปัจจัยอีกประการ 

กล่าวคือ ในบางเว็บไซต์ หรือบน Defi (Decentralized Finance) ที่ใช้คริปโทบางประเภทเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม

เราอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่านักลงทุนรายที่ทำธุรกรรมอยู่นั้น เป็น User ชาติใด และอาศัยอยู่ที่ไหน ประกอบกับ Private wallet บางประเภท นักลงทุนสามารถเปิดได้เอง และมักนิยมเปิดหลาย wallets เพื่อหลีกเลี่ยงการติดตาม จึงทำให้ยากต่อการสืบค้นตัวตนที่แท้จริงของ user แต่ละราย

ดังนั้น แม้จีนจะออกนโยบายคุมเข้มในประเทศมากเพียงใด ก็ไม่สามารถทราบถึงเส้นทางการลงทุนของนักลงทุนชาวจีนที่ถ่ายโอนคริปโทไปยังศูนย์ซื้อขายนอกประเทศได้ทั้งหมด และการซื้อขาย Bitcoin หรือ คริปโทบางประเภทก็สามารถทำผ่าน OTC หรือธุรกรรมแบบ Peer-to-peer ได้อยู่ดี
    ประกอบกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถช่วยผู้ให้บริการคริปโทแม้อยู่นอกประเทศจีน แต่ก็สามารถสร้าง “เครือข่ายส่วนตัวเสมือน” หรือ Virtual Private Network (VPN) ซึ่งเป็นระบบที่สร้างขึ้นเพื่อให้กลุ่มของ site เดียวกันสามารถสื่อสารเชื่อมต่อกันได้ และจากข้อเท็จจริงก็พบว่า ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายคริปโทจำนวนไม่น้อยที่ถูกปิดจากทางการจีนเมื่อหลายปีก่อน ได้มีการให้บริการชาวจีนจากนอกประเทศผ่านช่องทาง VPN นี้
 
    ยกระดับการกำกับ : ทั้งกิจกรรมในและนอกประเทศ
    ด้วยปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ ในรอบนี้ ธนาคารกลางจีน (PBoC) จึงต้องยกระดับการคุมเข้ม โดยได้ประกาศร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ รวมเก้าหน่วยงาน เช่น หน่วยงานกำกับดูแลบริหารไซเบอร์สเปซ และศาลประชาชนสูงสุดของจีน โดยใจความสำคัญของประกาศ คือ “การห้ามทำกิจกรรมทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับเงินเสมือน/คริปโท เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย”

ทั้งนี้ หากบริษัทจีนหรือบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในประเทศ จะโฆษณาใด ๆ เกี่ยวกับคริปโท หรือใช้ชื่อทางการค้าที่มีคำว่า “Virtual currencies” หรือ “Crypto Assets” ก็มีความผิดด้วยเช่นกัน ประกอบกับ ทางการจีนจะเพิ่มมาตรการเข้มข้นในการตรวจสอบการดำเนินการของเหมืองคริปโท โดยจะเน้นตรวจสอบอุตสาหกรรมที่ได้พัฒนารูปแบบe-Industrial park, e-Platform และ e-Payment เป็นพิเศษ (เพราะใช้ High-tech หรือ Big Data ในการดำเนินธุรกิจ)
    นอกจากนี้ ยังได้ขยายขอบเขตการสอดส่องธุรกรรมไปยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ โดยได้กำหนดว่า “ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายในต่างประเทศ (Oversea exchanges) อาจมีความผิดในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับคริปโทต่อลูกค้าชาวจีน” และเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานภาครัฐหน่วยต่าง ๆ ที่มีอำนาจในการตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมในต่างประเทศ สามารถตรวจสอบ สืบค้น การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโทของชาวจีนในต่างประเทศได้ 
    อย่างไรก็ดี แม้การประกาศครั้งนี้จะมีเนื้อหาที่เข้มงวดในการห้ามธุรกิจและประชาชนชาวจีนในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโทอย่างเด็ดขาด แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ประกาศของทางการจีนที่เผยแพร่นั้นยังไม่ได้อธิบายวิธีการในการบังคับใช้ (Enforcement) ไว้ ดังนั้น ประเด็นคำถามที่น่าสนใจ คือ หากศูนย์ซื้อขายในต่างประเทศรับลูกค้าชาวจีนแล้ว รัฐบาลจีนจะลงโทษการกระทำนี้ได้อย่างไร ดังนั้น ประเด็นเหล่านี้ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามในรายละเอียดต่อไป 
    ท้ายที่สุด ผู้เขียนมองว่า ประเด็นเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องที่ท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก ซึ่งในแต่ละประเทศย่อมมีแนวทางในการจัดการปัญหาที่แตกต่างกันตามบริบทของเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจทำได้ คือ การห้ามการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ที่นับวันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
    เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราในยุคนี้ อาจไม่ได้ต่างจากยุค Wildcat Banking หรือ Free Banking Era ในศตวรรษที่ 19 ที่ธนาคารในสหรัฐดำเนินธุรกิจภายใต้กฎหมายของแต่ละมลรัฐ ทำให้แต่ละธนาคารในแต่ละรัฐต่างมีรูปแบบการดำเนินการที่แตกต่างกันออกไป (เช่น ธนาคารบางแห่งอาจพิมพ์ธนบัตรได้เอง) จนในเวลาต่อมา จึงได้มีการตรากฎหมายกลาง หรือ Federal Bank regulation เพื่อควบคุมการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นที่มาของระบบสถาบันการเงินในสหรัฐ หรือ National Banking system ในปัจจุบัน 
    เช่นเดียวกัน ผู้เขียนมองว่า เรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลก็ไม่ต่างไปจากยุค Wildcat Banking เมื่อหลายร้อยปีก่อน ในเมื่อเป็นของใหม่ เกณฑ์การกำกับทั้งในระดับประเทศและระดับสากลอาจยังไม่ชัดเจนในวันนี้ โดยหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ กำลังอยู่ในช่วงปรับภูมิทัศน์หาจุดที่สมดุล เพื่อหาแนวทางกำกับดูแลให้ถูกที่ถูกทางต่อไปในอนาคต