สมรภูมิ Big Tech ชน Bank สร้างโมเดลธุรกิจใหม่

สมรภูมิ Big Tech ชน Bank สร้างโมเดลธุรกิจใหม่

เมื่อแบงก์กำลังก้าวสู่สมรภูมิใหม่ของการทรานส์ฟอร์มตัวเองไปเป็นบริษัทเทคโนโลยี และสยายปีกสร้างโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อเติบโตและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ครอบคลุมทุกมิติของการให้บริการทางการเงิน

คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future โดย ต้องหทัย กุวานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor  บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม 

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งจึงสะท้อนให้เห็นถึง “ความเร่งด่วน” และความจำเป็นที่จะต้องรีบระดมทรัพยากรเพื่อปกป้องฐานที่มั่นเดิมในตลาด เร่งฟื้นตัวจากสภาวะถดถอยที่เกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง รายจ่ายและหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น อนาคตของธุรกิจธนาคารไม่เพียงแต่จะต้องแข่งขันกับ Fintech เท่านั้นแต่ยังต้องรับมือกับแนวรบด้านใหม่เพราะบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกส่วนใหญ่ก็กำลังก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจการให้บริการทางการเงินเช่นกัน

 
        วิถีการให้บริการทางการเงินระหว่างลูกค้ากับธนาคารกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในอนาคตลูกค้าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารขนาดใหญ่แต่เพียงช่องทางเดียว ธุรกิจ Fintech รายย่อยหรือธุรกิจอื่นๆที่สนใจที่จะเข้ามานำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินให้กับลูกค้าเช่น ธุรกิจค้าปลีก หรือ Tech Company ที่ให้บริการด้านอื่นๆ ช่น บริการเรียกรถ ส่งของ สั่งอาหาร ก็จะสามารถเข้ามานำเสนอบริการทางการเงินได้ไม่แตกต่างกับแบงก์ ในต่างประเทศสตาร์ทอัพ Fintech จับมือกับธุรกิจค้าปลีกและสามารถออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องมีธนาคารเป็นตัวกลาง 
    

แนวรบของ Bank วันนี้จึงไม่ได้อยู่ที่การแข่งขันกันเองหรือกับ Fintech คู่แข่งที่น่าสะพรึงที่สุดกลับเป็น ยักษ์ใหญ่ฝั่ง Big Tech ที่เร่งสปีดการลงทุนในธุรกิจ Fintech มีการทดลองนำเอาบริการทางการเงินออกมาให้บริการกับกลุ่มลูกค้าทั้งในรูปแบบ B2B, B2C, และ C2C เช่น Whatsapp ประกาศให้บริการโอนเงินแบบ P2P อย่างเป็นทางการในอินเดียและบราซิลหลังจากได้ทดสอบการใช้งานกับผู้ใช้กว่า 1 ล้านรายเป็นเวลา 2 ปี 

ในขณะที่บริษัทแม่อย่าง Facebook ก็ตั้งทีมใหม่ Facebook Financial เพื่อวางกลยุทธ์ใหม่ด้าน Payment ของทุกแพลตฟอร์ม ส่วน Amazon  ก็จับมือกับ Marcus by Goldman Sachs เพื่อให้บริการสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยและมีแนวโน้มที่จะขยายผลเพื่อครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอื่นๆ อีก


        การลงทุนในธุรกิจ Financial Technology ของ Big Tech อย่าง Facebook, Apple, Google และ Amazon มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเม็ดเงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ โดยมี Google เป็นบริษัทที่ลงทุนสูงสุด ทั้งในแง่จำนวนดีล (23 ดีลในช่วงปี 2020-2021) และมูลค่าการลงทุน

             

ข้อมูลจากรายงานล่าสุดของ KPMG ระบุว่าครึ่งแรกของปีนี้ การลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน Fintech เกิดการเด้งกลับเป็น V-shaped ในทุกภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียแปซิฟิคที่อัตราการเติบโตของเม็ดเงินลงทุนเพิ่มสูงขึ้นถึง 67% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีที่แล้ว  เทรนด์ที่น่าจับตามองและเซ็กเมนท์ที่เติบโตสูงสุดคือกลุ่มของ Payments, Insurtech, และ Blockchain/Cryptocurrency 

นักวิเคราะห์ทางการเงินมองว่า การแข่งขันของแบงก์กับธุรกิจ Fintech รายใหม่อาจจะทำให้เกิดช่องทางหรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆในธุรกิจการเงิน แต่กลไกที่จะเปลี่ยนสมรภูมิการแข่งขันในธุรกิจการเงินอย่างสิ้นเชิงคือการกระโดดเข้ามาของ Big Tech ที่ฝั่งแบงก์ต้องจับตามองแบบห้ามกระพริบตา

เพราะ Big Tech มากับความพร้อมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเงินทุน เทคโนโลยี อีกทั้งแพลตฟอร์มที่หลากหลายมีฐานลูกค้าและข้อมูลที่เป็น Massive scale  ซึ่งสามารถนำไปสู่ปลายทางของการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแบบ Personalized banking service!