เทียบฟอร์มหุ้น ‘แบงก์-นอนแบงก์’ SCB นำทีมบวก 26.21%

เทียบฟอร์มหุ้น ‘แบงก์-นอนแบงก์’ SCB นำทีมบวก 26.21%

SCB นำทีมหุ้นแบงก์บวกยกแผง หลังประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ภายใต้ SCBX ฝั่งนอนแบงก์ราคาร่วงสวนทาง "บล.กสิกรไทย" อัพราคาเป้าหมายเพิ่มอีก 19% มองบวกต่อกลุ่มธนาคาร รับประโยชน์หลักการกลับมาเปิดธุรกิจ ด้าน "บล.เคจีไอ" เพิ่มน้ำหนักการลงทุน

ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-23 ก.ย.2564) ดัชนีบวก 28.09 จุด หรือ 1.75% มาอยู่ที่ 1,631.15 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายราว 3.8 แสนล้านบาท ระหว่างสัปดาห์ทำจุดสูงสุดที่ 1,637.65 จุด และต่ำสุดที่ 1,591.81 จุด โดยกลุ่มหุ้นที่บวกขึ้นนำตลาดมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคาร (BANK) เพิ่มขึ้น 9.84% เป็นการปรับขึ้นยกแผง ส่งผลให้ดัชนีธุรกิจหารเงิน (FINCIAL) บวก 4.45%

นำโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) บวก 26.21% บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) 15.11% ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 7.38% ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) 6.67% และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) 6.50%

ทั้งนี้ ดัชนีกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นอย่างมาก ภายหลัง SCB ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ผ่านการจัดตั้งโฮลดิ้ง "SCBX" (เอสซีบี เอกซ์) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยจะนำธุรกิจธนาคารลงไปอยู่ภายใต้โฮลดิ้งดังกล่าว รวมถึงประกาศความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการจัดตั้งกองทุน Venture Capital เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพ มูลค่า 600-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2-2.6 หมื่นล้านบาท)

อย่างไรก็ดี ดัชนีกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีย่อยภายใต้กลุ่มธุรกิจการเงินเช่นเดียวกับธนาคาร กลับปรับตัวลง 4.60% นำโดย บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) ลดลง 8.59% บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) 6.13% บมจ.อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง (AMANAH) 5.56% บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) 5.51% และ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) 4.78%

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า เราชอบแผนปรับโครงสร้างของ SCB เพราะไม่เพียงแต่จะเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจที่ดำเนินการภายใต้ SCBX และช่วยให้จัดสรรเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เรายังเห็นโอกาสขาขึ้น (อัพไซด์) จากการปลดล็อกมูลค่าของบริษัทในเครือผ่านการเปิดขาย IPO และธุรกิจฟินเทค

ด้วยอัพไซด์ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ มูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการสปินออฟธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคลหรือ Card X ในปี 2567 เราคาดว่าอัพไซด์จาก Card X จะอยู่ในกรอบ 25-31 บาทต่อหุ้น เพราะเราคาดว่าราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ของธุรกิจสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ P/BV ของธุรกิจธนาคารภายใต้ต้นทุนกองทุน (Consolidation Basis) ที่อยู่ในระดับต่ำ

นอกเหนือจาก Card X เรายังเห็นอีกหลายธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงบ่มเพาะที่จะปลดล็อกมูลค่าด้วย AISCB JV (บริษัทร่วมทุน JV ด้านสินเชื่อดิจิทัลกับ ADVANC) Auto X (สินเชื่อทะเบียนรถเป็นหลักประกัน) Alpha X (สินเชื่อรถพรีเมียม) และ SCBS (หลักทรัพย์และการลงทุนแบบดิจิทัล) จะเพิ่มอัพไซด์ให้อีก หากสามารถปลดล็อกมูลค่าผ่านตลาดเงินทุนได้

"เราเชื่อว่าผู้ถือหุ้นควรจะอนุมัติแผนการปรับโดรงสร้างธุกิจครั้งนี้ เราเพิ่มราคาเป้าหมายกลางปี 2565 ขึ้น 19% มาอยู่ที่ 139 บาท เพราะเรารวมมูลค่าที่ถูกปลดล็อกของ Card X เข้ามาในประมาณการของเรา เราคาดว่ามูลค่าหุ้น SCB จะซื้อขายด้วย PBV ที่ราว 1.0 เท่า ในปี 2565เราคงคำแนะนำ 'ซื้อ' "

ส่วนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจธนาคาร เราคงมุมมองเชิงบวก จากมูลค่าหุ้นที่ยังถูกและเป็นผู้รับผลประโยชน์หลักจากการกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง รวมถึงผลตอบแทนจากเงินปันผลที่คาดว่าจะสูง โดยหุ้นเด่นยังคงเป็น BBL และ TISCO

ด้านนักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า เราปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารจากเท่าตลาด (Neutral) เป็นเพิ่มน้ำหนักลงทุน (Overweight) หลังจาก 1. ความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนช่วยหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น 2. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกนโยบายใหม่ซึ่งส่งผลดีต่อธนาการ โดยช่วยลดแรงกดดันจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และช่วยลดต้นทุนเครดิต (Credit Cost) ซึ่งจะช่วยชดเชยแรงกดดันในฝั่งของผลตอบแทน (Yield) ในปี 2565

3. หลังปรับประมาณการแล้ว กำไรในปี 2564-2565 ยังโตได้ถึง 19%-16% และ 4. อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่เพิ่มขึ้นสนับสนุนให้เกิดการปรับ P/BV (Re-rate P/BV) เรามองว่าธีมการลงทุนหลักคือแรงกดดันในด้านค่าใช้จ่ายสำรองฯ ลดลงในกรณีของ KBANK และ SCB ในขณะที่ BBL กำไรมีโอกาสเติบโตจากแรงกดดันต่ำจากหนี้ปรับโครงสร้าง ส่วน KTB และ TTB เป็นหุ้นที่มูลค่า (Valuation) ต่ำ ส่วน TISCO ประเด็นการลงทุนอยู่ที่เงินปันผลสูง แต่ KKP ยังคงเผชิญความเสี่ยงกับผลขาดทุนจากสินเชื่อเช่าซื้อ