เทรนด์โลก . . . เทรนด์ไทย: ศักยภาพผลิตยา สู่ความมั่นคง

เทรนด์โลก . . . เทรนด์ไทย:       ศักยภาพผลิตยา สู่ความมั่นคง

อุตสาหกรรมผลิตยา หมายรวมถึง ยาแผนปัจจุบันและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคทุกประเภท โดยยาแผนปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1) ยาต้นตำรับ/ยาต้นแบบ (Original drug) หรือเรียกว่า ยาจดสิทธิบัตร (Patented drug)

ผู้ผลิตยาต้นตำรับจะได้รับสิทธิบัตรผูกขาดในการผลิตยาเป็นเวลา 20 ปี เมื่อสิทธิบัตรสิ้นสุดลง ผู้ผลิตรายอื่นสามารถผลิตยานั้นออกจำหน่ายได้ และ 2) ยาชื่อสามัญ (Generic drug) เป็นการผลิตลอกเลียนสูตรยาต้นตำรับซึ่งหมดสิทธิบัตรไปแล้ว โดยผลิตขึ้นภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าตามสิทธิของผู้ครองสิทธิบัตรยา แต่มีตัวยาสำคัญชนิดเดียวกับยาต้นตำรับ

อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงในการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบและตัวยาใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ฐานการผลิตยาและเวชภัณฑ์หลักของโลกโดยเฉพาะยาจดสิทธิบัตรกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีศักยภาพทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง

อุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นปลายคือการผลิตยาสำเร็จรูป ยาที่ผลิตได้ในประเทศเป็นยาชื่อสามัญ ซึ่งผู้ผลิตจะนำเข้าวัตถุดิบตัวยาสำคัญจากต่างประเทศมาผสมและผลิตเป็นยาสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ โดยไทยนำเข้าวัตถุดิบยาสัดส่วนสูงประมาณ 90% ของปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาสำเร็จรูปทั้งหมด กลุ่มยาที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุด ได้แก่ กลุ่มยาแก้ปวด/แก้ไข้ ทั้งนี้ ยาที่ผลิตในประเทศประมาณ 90% ถูกใช้บริโภคในประเทศและอีก 10% เป็นการผลิตเพื่อส่งออก

การแข่งขันของอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จาก (1) ผลิตภัณฑ์ยานำเข้าราคาถูกจากอินเดียและจีน (2) การเพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายใหม่จากต่างชาติ ซึ่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิตยาชื่อสามัญเพื่อรองรับตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เช่น ญี่ปุ่น (3) การขยายขอบข่ายลงทุนของกลุ่มทุนจากธุรกิจอื่น (4) ภาระต้นทุนของผู้ผลิตยาในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการเร่งปรับปรุงโรงงานผลิตยาให้ได้ตามมาตรฐาน GMP-PIC/S และราคายานำเข้า/วัตถุดิบยานำเข้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และ (5) การเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) อาจส่งผลต่อการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร โดยยาจดสิทธิบัตรอาจมีระยะเวลาผูกขาดนานเกิน 20 ปี นับเป็นปัจจัยที่เพิ่มความไม่แน่นอนต่อราคายาบางประเภท

ประเทศไทยจึงควรพัฒนาศักยภาพการผลิตยาเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้ายา วัตถุดิบยา ยาจดสิทธิบัตรที่มีราคาแพง โดยภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตยาต้นตำรับที่มีมูลค่าสูงหรือยาที่หมดสิทธิบัตร (เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยาโรคเบาหวาน และยาปฏิชีวนะ เป็นต้น) และยาจากชีววัตถุ เช่น ยาต้านมะเร็ง ส่งผลให้กลุ่มทุนใหญ่มีแผนรุกการผลิตวัตถุดิบตัวยาสำคัญ เช่น กลุ่ม ปตท. ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม สร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขั้นละเอียด กลุ่มเอสซีจี เคมิคอลล์ ลงทุนผลิตยาชีววัตถุและวัคซีนขั้นสูง (ร่วมกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด) และบริษัทสหแพทย์เภสัช (เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ) มีแผนผลิตวัตถุดิบสารตั้งต้น เมื่อผนวกกับการที่ไทยมีความพร้อมหลายด้าน อาทิ (1) แพทย์และวิศวกรการแพทย์มีความรู้ความสามารถในการค้นคว้าวิจัยโดยเฉพาะวัคซีน (2) ความพร้อมด้านสมุนไพรที่หลากหลายสามารถนำมาสกัดเป็นสารตั้งต้นทางการแพทย์/ ชีวเภสัชภัณฑ์ และ (3) ความก้าวหน้าด้านชีวสารสนเทศ สามารถนำมาพัฒนางานวิจัยและตัวยา

หลังจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสหลายสายพันธุ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ ซาร์ เมอร์ส อีโบล่า และล่าสุด COVID-19 ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ไทยเร่งพัฒนาศักยภาพยาและวัคซีนที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบยา/ยาจดสิทธิบัตรที่มีราคาแพงได้ในระยะต่อไป

หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก ‘แนวโน้มอุตสาหกรรมยา ปี 2564-2566’ อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Chemicals/phamaceuticals/IO/io-pharmaceuticals-21