World Pulse: สู่เส้นทาง Net Zero กับ "บัน คี มุน"

World Pulse: สู่เส้นทาง Net Zero กับ "บัน คี มุน"

การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิ เป็นเป้าหมายใหญ่และยากที่ทุกคนต้องช่วยกันแล้วแต่บทบาทสถานะที่ตนดำรงอยู่

เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง (KBank Private Banking) ร่วมกับ ลอมบาร์ด โอเดียร์ (Lombard Odier) ผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่งระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมพันธมิตรทางธุรกิจอีก 5 รายในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ร่วมจัดงานสัมนาออนไลน์แห่งปีในหัวข้อ “The Race to Net Zero: A Sprint or a Marathon” หวังจุดกระแสให้เกิดการพูดคุยเรื่องความยั่งยืน ถ่ายทอดสดใน 8 ตลาด ทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิค รวมถึงฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น งานนี้ได้บัน คี มุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้วยขณะดำรงตำแหน่งเขาผู้นี้ได้ผลักดันงานใหญ่หลายเรื่อง ที่เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์คือ ความตกลงปารีสเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Climate Agreement) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: SDGs) โดยปัจจุบันบัน คี มุน ยังคงเป็นผู้ให้การสนับสนุนในการผลักดันประเด็นด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

บันกล่าวว่า ปี 2564  เป็นปีที่ 2 ที่ทุกคนเผชิญกับโควิด-19  ร่วมกัน และโลกยังเผชิญความยากลำบากกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง  ทำให้อุณภูมิโลกเพิ่มขึ้น  ภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง  ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเพิ่มอัตราการเกิดไฟป่าในพื้นที่หลายแห่งของโลกอีกด้วย 

"ภัยพิบัติต่างๆ สร้างผลกระทบให้เกิดกับภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ทุกคนจึงต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปด้วยกัน"

อดีตเลขาธิการยูเอ็นได้อ้างถึงรายงานของ UN IPCC เมี่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ว่าอุณหภูมิโลกยังได้เพิ่มขึ้นสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วง 100,000 ปีหลัง ด้วยเหตุนี้เขาจึงมองว่า มนุษย์เหลือเวลาไม่มากที่จะแก้ไขสถานการณ์ แต่ส่วนตัวเขายังหวังว่าการช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะทำให้ทุกคนยังมีหวังในการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส 

“หากเราไม่ทำอะไรสักอย่างตอนนี้ ลูกหลานของพวกเราอาจจะต้องอาศัยอยู่ในโลกที่มีแต่ภัยพิบัติต่างๆ เราจึงต้องมีการวางแผนที่เหมาะสม และดึงให้ทุกประเทศ ทุกๆ อุตสาหกรรมมาช่วยกัน ร่วมแรงร่วมใจกันในการตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างเศรษฐกิจที่สะอาดยิ่งขึ้น”

สำหรับบทบาทของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินนั้น บันชี้ว่า สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการรักษ์โลกได้ เพราะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจในการให้การสนับสนุนและร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เป็นไปตามข้อตกลงปารีส 

เนื่องจากบันเป็นชาวเกาหลีใต้ เขาได้ยกตัวอย่างว่าเกาหลีใต้มีนโยบายหยุดให้การสนับสนุนทางการเงินกับธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอน ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เคยพูดว่าจะหยุดสนับสนุนพลังงานฟอสซิลและถ่านหินนั้น ก็ต้องช่วยกันจับตาดูว่าทำได้อย่างที่พูดหรือไม่ 

“10 ปีต่อจากนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ทางสหประชาชาติ เรียกว่าเป็นทศวรรษแห่งการดำเนินการ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชนจะต้องช่วยกันในการดำเนินกิจกรรมและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน สุดท้ายแล้วเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโตไปด้วยกันด้วยความยั่งยืน”

บทบาทของประเทศพัฒนาแล้วก็สำคัญ บันเผยว่า  สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ แต่ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา มีการระดมทุนแค่ 80,000 ล้านดอลลาร์  ล่าสุด ประเทศในองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าต้องระดมทุน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศที่ไม่มีงบประมาณร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้วภาคเกษตรกรรมก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอน ดังนั้นการจะบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จะขาดความร่วมมือจากภาคเกษตรกรรมไม่ได้ 

"ภาคการเกษตรเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ดังนั้น ต้องอาศัยการปรับตัว เช่น การเพาะปลูกที่ทำให้เกิดร่องรอยคาร์บอนให้น้อยที่สุด ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกซึ่งยังต้องพึ่งการเกษตร ยังขาดการตระหนักรู้ เงินทุน และเทคโนโลยี จึงต้องมีการลงทุนเพื่อให้เขาสามารถปรับตัวได้ ซึ่งถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง" 

และในโอกาสที่สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ในเดือน พ.ย.นี้ บันกล่าวว่า การประชุมนี้ถือเป็นการยกระดับความพยายามด้านการเมืองให้เข้มแข็ง การหาเงินแสนล้านดอลลาร์มาเข้ากองทุนไม่ใช่เรื่องเล็กแต่ก็ต้องพยายามทำให้กองทุนนี้เกิดขึ้น

“การประชุม COP คราวนี้จะสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งเพราะความเสี่ยงสูงมาก ไม่มีเวลาคิดว่าจะสำเร็จหรือไม่อีกต่อไปแล้ว ประเทศร่ำรวยกว่าต้องช่วยประเทศยากจน อย่างประเทศออสเตรเลียประสบความสำเร็จมากมาย ตนเองประสบไฟป่าแต่ก็ไม่ย่อท้อดำเนินงานในเรื่องนี้ต่อไป” 

ส่วนคำถามที่เป็นหัวข้อการอภิปราย “The Race to Net Zero: A Sprint or a Marathon” เป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์นั้น ควรเป็นการวิ่งลมกรดหรือวิ่งมาราธอน ในทัศนะของอดีตเลขาธิการยูเอ็นมองว่า ต้องเป็นวิ่งผลัดนั่นคือต้องส่งไม้ต่อและทุกคนต้องมีส่วนร่วม