พาณิชย์โว โครงการจับคู่กู้เงินช่วยคนตัวเล็กแล้วกว่า 3,000 ราย

พาณิชย์โว โครงการจับคู่กู้เงินช่วยคนตัวเล็กแล้วกว่า 3,000 ราย

พาณิชย์ เผย โครงการจับคู่กู้เงินช่วยร้านอาหารและเอสเอ็มอีส่งออก พลิกวิกฤตสู้โควิด แล้วกว่า 3,000ราย วงเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ด้านผู้ส่งออก ขอปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีส่งออกเพิ่มขึ้น

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวปาฐกถาพิเศษ จับคู่กู้เงินสร้างพลังให้คนตัวเล็กฟื้นเศรษฐกิจ “ในงาน Virtual Seminar หัวข้อ “จับคู่กู้เงิน คลายทุกข์ SMEs”  ที่จัดโดยน.ส.พ.ฐานเศรษฐกิจ ว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โครงการจับคู่กู้เงินที่กระทรวงพาณิชย์กับสถาบันการเงินได้จับมือกันจัดขึ้นและตนเป็นคนตั้งชื่อเองโครงการ”จับคู่กู้เงิน” ทำให้เข้าใจง่ายตรงประเด็น ตรงความต้องการของ SMEs ทั่วประเทศ เพราะช่วงที่ผ่านมาที่เราเกิดวิกฤติโควิด-19 ปัญหาใหญ่คือร้านอาหารจำนวนมากขาดเงินหมุนเวียนเพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหารได้ต่อไป และ SMEsส่งออกก็ต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากเงินทุนหมุนเวียนและต้องการเห็นภาครัฐเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต การตลาด โดยเฉพาะการต้องปรับตัวเข้าสู่โลก ยุค New Normal

โครงการ “จับคู่กู้เงิน” มีด้วยกัน 2 ส่วน คือ โครงการที่ 1 จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหารและ โครงการที่ 2 จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก โดยมี 5 สถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการประกอบด้วย ธนาคารออมสิน,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย( SME D Bank )และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

พาณิชย์โว โครงการจับคู่กู้เงินช่วยคนตัวเล็กแล้วกว่า 3,000 ราย

โดยโครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับร้านอาหาร ซึ่งมีตัวเลขร้านอาหารทั่วประเทศที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีจำนวน 15,967 ราย แต่ที่เป็นบุคคลธรรมดา ถึง 103,000 รายรวมร้านอาหารที่จดทะเบียนทั่วประเทศมีถึง 118,967 ราย เกิดการจ้างงานถึง 1,000,000 คนโดยประเมิน โครงการจับคู่กู้เงิน วัตถุประสงค์สำคัญต้องการให้ร้านอาหารเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยเงื่อนไขดอกเบี้ยพิเศษ และปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี ซึ่งโครงการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.- 7 ก.ย. 2564   สถาบันการเงิน 5 แห่งได้ปล่อยเงินกู้ให้ร้านอาหารได้ถึง 2,892 ราย เป็นวงเงิน 2,622 ล้านบาท เฉลี่ย 700,000 บาทถึง 1,000,000 บาทต่อราย สามารถช่วยคนตัวเล็กได้จริง เพราะในวงเงินทั้งหมดที่ปล่อยกู้เป็นสตรีทฟู้ดหรือร้านอาหารริมถนนรายย่อยถึง 73% จำนวน 2,111 ราย วงเงินกู้ 1,914 ล้านบาท ร้านอาหารจำนวนมาก 5 ลำดับแรกอยู่ในต่างจังหวัด ทั้งสิ้นประกอบด้วย 1.อุดรธานี 465 ราย 763 ล้านบาท 2.ขอนแก่น 171 ราย 288.3 ล้านบาท 3.นครราชสีมา 323 ราย 239 ล้านบาท 4.ภูเก็ต 45 ราย 21 ล้านบาท และ 5.เชียงใหม่ 5 ราย 2.7  ล้านบาท ซึ่งช่วยคนตัวเล็กในต่างจังหวัดด้วยถือว่าบรรลุเป้าหมายทั้งหมดตามที่ได้ตั้งไว้

นายจุรินทร์    กล่าวว่า ส่วนโครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับ SMEsส่งออก ดำเนินตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.- 7 ก.ย. 2564  และได้มีการขยายโครงการต่อไปถึงวันที่ 7 พ.ย.64 โดยความร่วมมือระหว่าง EXIM Bank กับ บสย. ซึ่งประเทศไทยมี SMEs ประมาณ 3,100,000 ราย เป็น SMEs ส่งออกประมาณ 30,000 รายคิดเป็น 1 % ของเอสเอ็มอีมีส่วนแบ่งการตลาดของยอดส่งออกคิดเป็น 11 %โดยช่วยได้ 252 ราย เป็นเงิน 1,600 ล้านบาท

ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้เข้าช่วยเหลือ SMEs หลายเรื่อง ประกอบด้วย  1.จัดตั้ง กรอ.พาณิชย์เพื่อจับมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับเอกชนทำงานร่วมกันเพราะเรื่องการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ทำงานโดยลำพังหรือรัฐบาลทำโดยลำพังไม่ได้เอกชนต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่ยังขาดตัวแทนของภาคเอสเอ็มอี จากนี้ไปจะนำสมาพันธ์ SMEs เข้ามาร่วมเป็น กรอ.พาณิชย์ เพื่อช่วยสะท้อนปัญหาจับมือเดินไปข้างหน้าต่อไป
 

2. การพัฒนาเพิ่มมูลค่าสูงในสินค้า โดยเน้น SMEs ในต่างจังหวัด ทำรายได้ให้กับภาคการผลิตและการส่งออก ส่งเสริมให้ภาคการผลิตจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ในเรื่อง GI ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น ไข่เค็มไชยา ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ  เป็นต้น ตอนนี้เรามี GI ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

  3.มุ่งเน้นการเปิดด่านเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน เรามีด่านอยู่ทั่วประเทศ 97 ด่าน เปิดจาก 20 กว่าด่านเพราะเจอโควิดปิดเกือบหมด เพิ่มมาเปิดเป็น 46 ด่าน ซึ่งผู้ที่จะค้าชายแดน เป็น SMEs เกือบ 90 % 4.การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ ให้จัดพื้นที่พิเศษกับ SMEs เช่น 10 ถึง 15% ซึ่งเริ่มตั้งแต่ก่อนโควิดไปแสดงที่กัมพูชา มีการอบรมก่อนเพื่อให้เข้าใจกระบวนการส่งออก  5.เร่งส่งเสริมภาคบริการยุคใหม่ ทั้งเรื่องคอนเทนท์ การส่งเสริมภาคบริการสุขภาพการบริการด้านการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อดึงนักท่องเที่ยว ดึงนักศึกษาเข้ามาในประเทศ รวมทั้งแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ต่างๆที่เดินหน้าเป็นรูปธรรม ต้องนับหนึ่งจากคนตัวเล็กที่เรียกว่า SMEs หรือสตาร์ทอัพ

 6. สร้างแม่ทัพบุกตลาดในประเทศและตลาดโลกรุ่นใหม่ ในการเข้ามาทำรายได้ให้ประเทศ เป็นที่มาของโครงการปั้น Gen Z เป็น CEOจับมือกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจัดการอบรมตั้งเป้าหมาย 12,000 คนในปี 2564 แต่มีผู้สมัคร 20,000 คน ซี่งจะรับทั้งหมด เป็นวิชาอบรมให้ความรู้บริหารอบรมธุรกิจยุคใหม่ การทำบัญชีการค้า จนถึงภาคการผลิตโดยใช้ระบบ 5G การตลาด 5G และกระบวนการส่งออกเบื้องต้นและส่งออกเข้มข้น เพื่อเดินหน้าการส่งออก

“รวมทั้ง 2 โครงการสามารถอนุมัติวงเงินไปแล้วทั้งสิ้น 4,222 ล้านบาท   จำนวน 3,144 ราย  แยกเป็นโครงการสถาบันการจับคู่กู้เงินกับร้านอาหารช่วยคนตัวเล็กได้ 2,892 รายเป็นเงิน 2,622 ล้านบาท โครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับ SMEsส่งออก ช่วย SMEs ได้ 252 ราย เป็นเงิน 1,600 ล้านบาท”นายจุรินทร์ กล่าว

นายชัยชาญ เจริญสุข  ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยฟื้นตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย คือ สหรัฐ จีน และสหภาพยุโรป ทำให้การการส่งออกของไทยใน 7 เดือนแรกของปีนี้เติบโตสูงมาก คาดว่าปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัว 12 %  อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยยังมีอุปสรรคปัญหาในเรื่องของการขนส่งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนร์และปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น 5-10 เท่า แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนจะร่วมกันแก้ปัญหาแต่ก็ได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะหลายประเทศส่งออกดีขึ้นความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้าก็มากขึ้นตามไปด้วย

สำหรับโครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับ SMEsส่งออก ปัจจุบันมีSMEs ส่งออกที่ได้รับสินเชื่อเพียง  252 รายวงเงิน 1,600 ล้านบาท หรือรายละ  6 ล้านบาท ยังมีความต้องการสินเชื่ออีกหลายราย  ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนต้องการเงินทุนสำหรับการบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่การส่งออกของในช่วงขาขึ้น ผู้ประกอบ SMEsส่งออก เป็นตัวจักรสำคัญที่ซับพอร์ตผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ของไทยที่ส่งออกเพราะต้องอาศัยวัตถุดิบจากผู้ประกอบการ SMEsส่งออกเพื่อนำมาผลิตสินค้า

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ขณะนี้ร้านอาหาร สตรีทฟู้ดก็เริ่มกลับมาประกอบธุรกิจได้แล้วจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายการล็อคดาวน์ ทำให้ผู้บริโภคกลับมานั่งทานอาหารในร้านได้บ้างแต่ก็ยังไม่ถึง 50 %แต่ในส่วนภัตาคาร ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า โรงแรม ยังมีปัญหาเพราะยังไม่มีงานสัมมนาหรืองานประชุม จึงอยากให้รัฐบาลขยายเวลาการปิดร้านอาหารจาก 20.00 น.ให้ดึกกว่านี้ เพื่อให้สามารถขายอาหารให้นานขึ้น ส่วนโครงการจับคู่กู้เงินถือเป็นโครงการที่ช่วยคนตัวเล็กได้แต่อยากให้เปิดให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมในโครงการนี้ด้วย