เป้าหมายต้องสอดคล้องความจริง! UNDP ชี้ ป.ป.ช.ประสบความสำเร็จต้านทุจริตยาก

เป้าหมายต้องสอดคล้องความจริง! UNDP ชี้ ป.ป.ช.ประสบความสำเร็จต้านทุจริตยาก

“UNDP” Thailand ชี้ “ป.ป.ช.” ควรกำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องความเป็นจริง เหตุคาดหวัง “CPI” ไม่ต่ำกว่า 50 คะแนนปี 65 นอกเหนือการควบคุม ยากต่อการประสบความสำเร็จต่อต้านทุจริต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส รายงานว่า โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) โดย Dr.Hady Fink ที่ปรึกษาด้าน Anti-Corruption Indicator ได้จัดทำรายงาน Improving Thailand’s Prevention Measures on Corruption โดยเป็นการรายงานผลการวิเคราะห์และให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการป้องกันการทุจริตของประเทศไทย โดยสรุปประเด็นที่เกี่ยวกับการประเมิน ITA ดังนี้

1. ประเด็นการประเมิน ITA

ในรายงานส่วนหนึ่ง UNDP ได้ทำการศึกษาเครื่องมือการประเมิน ITA โดยจุดมุ่งหมายหลักของการศึกษาในประเด็นนี้คือ การให้แนวทางและข้อเสนอแนะในการนำการประเมิน ITA ไปใช้ในการยกระดับการป้องกันการทุจริต Dr.Hady Fink ได้ให้ความเห็นว่า การประเมิน ITA เป็นความริเริ่มในการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมและเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนามาตรการป้องกันการทุจริตของประเทศไทยที่สามารถวัดผลสำเร็จของการดำเนินงานได้และสามารถสอบทานผลจากเอกสารได้จริง อีกทั้งการออกแบบเครื่องมือการประเมิน ITA ยังมีความสอดคล้องกับแหล่งข้อมูลในการประเมิน CPI อีกด้วย

Dr.Hady Fink ยังได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการประเมิน ITA ไว้ว่า การที่จะทำให้ ITA ได้รับการยอมรับและได้รับความเชื่อถือนั้น ในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลการประเมิน ITA ควรมีสถาบันที่มีความเป็นอิสระและมีความน่าเชื่อถือที่จากภายนอก เช่น มหาวิทยาลัยระดับชาติ เข้ามาทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของสาธารณชนด้วย ไม่ควรมีเพียงเฉพาะการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยหน่วยงานหรือการประเมินด้วยตนเอง และควรมีการพัฒนาระเบียบวิธีการประเมินหรือกรอบตัวชี้วัดที่สามารถสร้างข้อมูลสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในการกำกับติดตามและประเมินการป้องกันการทุจริตในทุกระดับด้วย

2. ประเด็นการกำหนดค่าเป้าหมายการป้องกันการทุจริตของประเทศไทย

การจัดทำโครงการป้องกันการทุจริตเพื่อยกระดับ CPI ไม่อาจเป็นไปได้ที่จะกำหนดให้โครงการใดโครงการหนึ่งมีความสอดคล้องและส่งผลต่อ 9 แหล่งตัวชี้วัดในการประเมิน CPI โดยตรง ดังนั้น การกำหนดค่าเป้าหมายและการจัดลำดับความสำคัญในการป้องกันการทุจริต จึงไม่ควรจัดลำดับความสำคัญของโครงการหรือการดำเนินงานต่างๆ โดยยึดตามตัวชี้วัดสากลเป็นหลัก ผลจากการศึกษาสถานะการดำเนินงานด้านการป้องกันการทุจริตในปัจจุบัน นำมาสู่ข้อเสนอที่ว่า ประเทศไทยควรมีการประเมินความเสี่ยง มีการจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงาน และกำหนดเป้าหมายของตนเองมากกว่านำตัวชี้วัดสากลมาใช้ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงาน โดยอาจนำผลการประเมิน ITA มาใช้เป็นค่าเป้าหมายแทน CPI เป็นต้น

3. ประเด็นการกำหนดยุทธศาสตร์การต่อต้านการทุจริต

จากการศึกษายุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องพบว่า การกำหนดเป้าหมายหลักที่ไม่อาจบรรลุได้ (ภาครัฐมีความโปร่งใสปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ) การกำหนดตัวชี้วัดที่ไม่สามารถวัดความก้าวหน้าได้ (CPI score) และการกำหนดค่าเป้าหมายที่นอกเหนือการควบคุม (ได้คะแนน CPI ไม่ต่ำกว่า 50 คะแนนภายในปี 2565) ส่งผลให้ประเทศไทยยากต่อการที่จะกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จในการต่อต้านการทุจริต ดังนั้น จึงมีข้อเสนอว่า ควรที่จะกำหนดกำหนดเป้าหมายหลักให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและมีการกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม เช่น การประเมิน ITA หรือการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชน อีกทั้งควรมีการกำหนดค่าเป้าหมายที่สามารถวัดความก้าวหน้าและความสำเร็จได้จากเอกสารหลักฐาน