"พม." แจงเงิน "ทุจริต" เป็นเงินนอกงบประมาณ สั่งรื้อระบบปิดจุดอ่อนทุกกรม

"พม." แจงเงิน "ทุจริต" เป็นเงินนอกงบประมาณ สั่งรื้อระบบปิดจุดอ่อนทุกกรม

"พม." รื้อระบบทุกกรม ป้องการการทุจริต เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปิดจุดอ่อน ทั้งคนทั้งระบบ แจงเงินยักยอกเป็นเงินนอกงบประมาณ ไม่เกี่ยวกับ "เบี้ยคนพิการ"

วันนี้ (20 ก.ย. 64) ที่ ห้องประชุมชั้น 2  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “นายจุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แถลงข่าวความคืบหน้ากรณีนักพัฒนาสังคมทุจริตเงินกลุ่มเปราะบาง โดยระบุว่า จากกระแสข่าวที่ออกมาเกรงว่าประชาชนจะสับสน ในประเด็นที่เกี่ยวกับการทุจริตในหน่วยงาน กระทรวง พม. ยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้ และในฐานะรัฐมนตรี จะไม่ไว้หน้าผู้ทุจริต ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือข้าราชการระดับไหน นโยบายรัฐบาลชัดเจนว่าปราบทุจริต ฉะนั้น เรื่องของทุจริตที่เกิดขึ้น ต้องขอบคุณ ปลัด พม. และ อธิบดีที่ทำงานในเชิงรุก เพื่อระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

 

วันนี้ผู้รับผิดชอบให้ออกจากราชการไว้ก่อน และมีการอายัดทรัพย์ และให้รื้อระบบที่ผ่านมาให้หมด ของทุกกรมในกระทรวง พม. และสลับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบนี้ เปลี่ยนทีม สลับทีม เพื่อให้เรียนรู้งานใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเคยชินกับการทำงานแบบเดิม เพื่อป้องกันการทุจริตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับประชาชน

 

“สำหรับเงินที่ทุจริตไปประมาณสิบกว่าล้านบาท แต่ตัวเลขแน่ชัดว่าเท่าไหร่ต้องรอให้สอบสวนเสร็จก่อน เพราะทุกคนก็ต้องอยากรู้ว่าความจริงเสียหายเท่าไหร่ ดังนั้น เราจะยังไม่พูดในสิ่งที่ยังไม่มีตัวเลขจริง โดยเรียนกับ ปลัด พม. แล้วว่า ไม่ว่าผลสอบจะไปเจอใคร ขอโทษล่วงหน้าว่าไม่ไว้หน้าอิฐหน้าพรหม กระทรวงนี้ต้องไม่ให้มีเรื่องเหมือนกับปี 2561 อีก” รมว.พม. กล่าว

  • ย้ำ ไม่ใช่เงินอุดหนุนคนพิการ

 

ด้าน “นางพัชรี อาระยะกุล” ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) อธิบายเพิ่มเติมว่า บางคนจะคิดว่าเงินส่วนนี้เป็นเงินของคนพิการ และมีคนไปพาดหัวว่า เงินคนพิการถูกยักยอก ทำให้เข้าใจผิดและทำให้ผู้พิการเข้าใจผิดว่าเงินที่จะเป็นเบี้ยของเขา ช่วยเหลือเขา จะไม่ได้ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เงินนี้เป็นเงินนอกงบประมาณ คือ เป็นเงินที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการ แต่เป็นเงินประกันสัญญาที่เวลาคนที่มาทำงานร่วมกับกระทรวง รับจ้างก่อสร้าง หรือรับจ้างต่างๆ จะเอาเงินมาสร้างหลักประกันไว้ก่อน ว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามที่ตกลงกันเอาไว้ เพื่อกันการหลบหนี

 

  • อายัดบัญชีคนทุจริตแล้ว

 

รมว.พม. กล่าวต่อไปว่า หากงานไหน ที่ทำไม่ตรงตามสเปก หรือตามเวลาประกัน จะยึดเงินก้อนนี้ไว้ แต่หากทำถูกต้อง จะมีเวลาประกัน 1-2 ปี ฉะนั้น เงินก้อนนี้ยังมีเวลา ถามว่าถูกฉกไปหรือไม่ ถูกฉกไป ถูกยักยอกไป แต่ขณะนี้ได้อายัดทรัพย์คนที่ทุจริตไว้แล้ว ก็เชื่อว่าจะได้คืนบางส่วน หากได้ไม่หมดก็ต้องขอให้ทาง สำนักงานปราบปรามการฟอกเงิน ไปดูเส้นทางเงิน จะรู้หมดว่าเงินอยู่ที่ไหน ส่วนวันนี้จะได้เงินมาครบหรือไม่ ทำคนเดียวจริงหรือไม่ ต้องรอผลสอบ ขอให้ฟังผลสอบไม่นาน จะพยายามทำให้เร็วที่สุด

 

"ขณะนี้ติดต่อสำนักงานปราบปรามฟอกเงินไปแล้ว เขาต้องไปขอสเตทเมนท์จากธนาคารเพื่อดู หากแล้วเสร็จเมื่อไหร่จะรีบมาแถลงให้ทราบ จะไม่มีปกปิด ยื้ออะไรไว้ทั้งสิ้น อยากให้เรื่องจบเร็วเช่นกัน"  

  • ปิดจุดอ่อนระบบ - คน 

 

รมว.พม. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สิ่งที่ทำ คือ ต้องเอาทุกหน่วยงาน ทุกกรม ให้ไอที ออดิท เข้าไปดู และมีออนไซน์ ออดิท เข้าไปตรวจจริง ต้องรื้อระบบการอนุมัติทั้งหมด เปลี่ยนพาสเวิร์ดทั้งหมด เปลี่ยนขั้นตอนใหม่ เปลี่ยนบุคคลใหม่ แต่หากดูว่าระบบดีอยู่แล้ว เพียงแต่คนทุจริต ก็ต้องเปลี่ยนที่คน หากดูแล้วตรงไหนมีจุดอ่อนก็ต้องปิดจุดอ่อนตรงนั้น หากจุดอ่อนเป็นเรื่องของระบบ ก็ต้องแก้ที่ระบบ หากจุดอ่อนเป็นเรื่องคน ก็ต้องแก้ที่คน

 

"ทั้งนี้ ในกระบวนการอนุมัติเงิน ที่รับรายงาน คือ ต้องมีพาสเวิร์ดที่จะทำ ดังนั้น คนที่รักษาพาสเวิร์ด ก็ต้องดูว่าทำไมจึงจะรักษาพาสเวิร์ดไว้ไม่ได้ ต้องรอการตรวจสอบของคณะทำงาน ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่่ผ่านมา (17 ก.ย. 64) ได้มีการอายัดบัญชีคนที่ถูกจับได้แล้ว อย่างไรก็ตามบัญชีที่มีต้องไปดูว่ามีกี่บัญชี ย้ำว่า เงินที่ยักยอกไปเป็นเงินประกันยังไม่กระทบกับใคร" รมว.พม.กล่าวทิ้งท้าย