มาตรการ COVID Free Setting เข้มข้น Step by Step จะดีกว่าไหม?

มาตรการ COVID Free Setting เข้มข้น Step by Step จะดีกว่าไหม?

การคลายล็อกต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ทั้งจากภาคประชาชนและภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคประชนส่วนหนึ่งจะต้องยึดการเว้นระยะ หลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนจำนวนมาก ทำกิจกรรมแต่พอดี ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ ส่วนภาคเอกชนก็ต้องยกการ์ดสูง ด้วยมาตรการ COVID Free Setting

จากการเข้าร่วมประชุม กรมอนามัย ในวันอังคารที่ 14 ก.ย.2564 เพื่อฟังการชี้แจงและขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติสำหรับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม และร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ซึ่งได้รับแจ้งว่า กรมอนามัย จะคุมเข้มห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จะเปิดให้บริการต่อไปได้นั้น ต้องขอความปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 มาตรการความปลอดภัยองค์กร หรือ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด หากจะใช้บริการในกิจการเสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ตัดผม คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หรือประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน หรือตรวจ ATK ผลเป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป

3 Step ปฏิบัติการ COVID Free Setting อย่างเข้มข้น

การคลายล็อกต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ทั้งจากภาคประชาชนและภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคประชนส่วนหนึ่งจะต้องยึดการเว้นระยะ หลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนจำนวนมาก ทำกิจกรรมแต่พอดี ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ ส่วนภาคเอกชนก็ต้องยกการ์ดสูง ด้วยมาตรการ COVID Free Setting ประกอบด้วย ความปลอดภัย 3 Step ดังนี้

Step 1 ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย (COVID Free Environment) อาทิ การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง หมั่นทำความสะอาดสินค้า ระบบปรับอากาศทุก 3 เดือน ใช้ระบบกรองอากาศ HEPA หรือติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศเฉพาะที่ รวมทั้งเข้มงวดมาตรการห้ามการรวมตัวกันจุดใดจุดหนึ่ง

Step 2 ด้านพนักงานปลอดภัย (COVID Free Personnel) มีภูมิคุ้มกัน โดยพนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดส (2 เข็ม) หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน และให้คัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยระบบไทยเซฟไทย รวมถึงจัดหา ATK ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน พร้อมกำชับให้งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน ระหว่างพัก และงดกินอาหารร่วมกัน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล

Step 3 ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย (COVID Free Customer) ให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแพลตฟอร์ม “ไทยเซฟไทย” หรือแอพพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด

ทั้งลูกจ้างและลูกค้า ต้องวัคซีนครบโดส-ตรวจ ATK ทุก 7 วัน พร้อมจริงหรือ?

จำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม ถึงวันที่ 12 ก.ย.2564 รวม 40,276,356 โดส ใน 77 จังหวัด เข็มที่ 1 สะสม 27,303,700 ราย ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 (ครบตามเกณฑ์) สะสม 12,357,581 ราย แต่หากพิจารณาจำนวนผู้ให้บริการต้องการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ (2 เข็ม) โดยเฉลี่ย ก็ผ่าน 10% มาเพียงเล็กน้อย จังหวัดที่ฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เข็มที่ 1 จำนวน 66.8% เข็มที่ 2 (ครบโดส ) เพียง 17% ส่วนจังหวัดอื่น ๆ 71 จังหวัด เข็มที่ 1 ราว  22.2% เข็มที่ 2 (ครบโดส ) เพียง 8.2%

มาตรการความปลอดภัยองค์กร หรือ COVID Free Setting โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อโควิดให้พนักงานผ่านชุดตรวจ ATK ทุก 7 วันนั้น เป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงสำหรับผู้ประกอบ และก็ไม่ใช่จะหาซื้อได้ง่าย ๆ รัฐบาลก็ยังไม่สามารถสนับสนุนการแจกชุดตรวจให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้ 

แต่ประเด็นที่สำคัญและต้องคิดให้มาก ก็คือ เราต้องยอมรับว่าเรื่องชุดตรวจ ATK ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย คนบางกลุ่มยังไม่รู้ว่าชุดตรวจ ATK คืออะไร ใช้อย่างไร มีประโยชน์อย่างไร หากกำหนดวันบังคับใช้มาตรการ COVID Free Setting เข้มข้น 100% ทั้ง 3 Step ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ คงโกลาหลวุ่นวายอย่างแน่นอน

หากพิจารณาในแง่ความพร้อม ต้องยอมรับทั้งผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และภาครัฐก็ยังไม่พร้อมแน่นอน การตั้งเงื่อนไขที่ต้องให้พนักงานและลูกค้า (ร้านอาหาร ธุรกิจกลุ่มเสี่ยง) ต้องได้รับวัคซีนครบโดส (2 เข็ม) ก่อน ขณะที่จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ (2 เข็ม) เฉลี่ยยังได้แค่ 12-15% ซึ่งเหลืออีกเพียง 15 วัน การบังคับใช้มาตรการความปลอดภัยองค์กร (COVID Free Setting) อย่างเข้มงวด คงยากที่จะบังคับใช้ให้ได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ

มาตรการบังคับใช้ Step By Step จะดีกว่าไหม

ในเมื่อ มติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้เริ่มใช้มาตรการ COVID Free Setting วันที่ 1 ต.ค. โดยขอให้พิจารณาให้ยืดเวลาเตรียมความพร้อม บุคลากรได้รับวัคซีนต้านโควิดครบตามเกณฑ์ครบถ้วน และ ภาครัฐและเอกชน สามารถที่จะหาชุดตรวจ ATK เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจพนักงานทุกสัปดาห์ รวมทั้ง สามารถจัดคู่มือหรืออื่นใด ให้ประชาชนใช้หลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดสหรือ “บัตรสีเขียว” หลักการติดโควิด-19 และมีภูมิคุ้มกันแล้ว หรือ “บัตรสีเหลือง” และเอกสารผู้ที่มีผลเป็นลบจากการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจนแบบรู้ผลเร็ว (ATK) ภายใน 7 วันอย่างเป็นทางการ

แล้วทำไม เราไม่พิจารณาดำเนินการ COVID Free Setting ซึ่งมี 3 Step ให้เข้มข้นที่ละ Step 

โดยวันที่ 1 ต.ค. ให้ปฏิบัติ Step 1 ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย อย่างเข้มข้น เจ้าหน้าที่ออกตรวจการปฏิบัติอย่างจริงจังและเข้มงวด หลังจากที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส 40% ของประชากรและแต่ละจังหวัด รัฐบาลจัดหาชุดตรวจให้ผู้ประกอบการและประชาชนเข้าถึงในต้นทุนที่รับได้ การปฏิบัติ Step 2 ด้านพนักงานปลอดภัย กรมอนามัยก็สามารถประกาศวันบังคับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติการ Step 2 และ Step 3 ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย ตามลำดับ

เพียงแค่การยืดเวลาเตรียมความพร้อม สักระยะหนึ่ง ตามความเหมาะสม มาตรการ COVID Free Setting ก็จะสามารถนำมาบังคับใช้อย่างเข้มข้น บังคับให้ปฏิบัติได้จริง และเกิดประสิทธิภาพ และอย่างยั่งยืน จะดีกว่าไหมครับ!!