ขุดคดีเก่า "3 ป.” วัดกำลังยึดพปชร. ขั้ว “ประวิตร-ประยุทธ์” งัดข้อ

ขุดคดีเก่า "3 ป.” วัดกำลังยึดพปชร. ขั้ว “ประวิตร-ประยุทธ์” งัดข้อ

จับตาคดีใน ป.ป.ช.ของกลุ่มนักการเมือง-คนใกล้ชิด “ขั้วประวิตร” และ“ขั้วประยุทธ์”ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาดิสเครดิตการเมือง เพื่อวัดกำลัง 3 ป.หรือไม่ หลังจาก"สุริยะ”รายล่าสุดคดีจัดซื้อเครื่องบินการบินไทย ต่อจากการเขย่า“อนุพงษ์”กรณีอนุมัติที่ดินสาธารณะเอื้อเอกชน

หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ท่ามกลางกระแสโหวตคว่ำ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน จน “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เหรัญญิกพรรค ต้องสังเวยเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ศึกใน พปชร.ยังไม่สงบ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการประลองกำลังว่าใครจะยึดพรรคนี้ได้ 

ความสัมพันธ์ของ “3 ป.” แม้จะยืนยันกันว่าแน่นปึ้ก แต่เป็นเพียงลมปาก เพราะความเคลื่อนไหวของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพปชร. กลับตรงกันข้าม

การตั้ง “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นั่งเก้าประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร. ถูกมองว่าเป็นการบล็อก รุ่นน้อง 2 ป. “ประยุทธ์-บิ๊กป๊อก” ไม่ให้เข้ายึดพรรค พปชร. การให้ “ร.อ.ธรรมนัส” นั่งเก้าอี้เลขาธิการพปชร. ถูกมองว่า “บิ๊กป้อม” ยังเลือกใช้บริการขั้วอำนาจเดิมในพปชร.

เมื่อรอยร้าวนี้ยากจะประสานได้ดังเดิม เพราะมีการเดินเกม “ขุดคุ้ย” สารพัด “เรื่องฉาว” โยนไปที่องค์กรตรวจสอบสำคัญอย่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ “อดีตเด็กหน้าห้อง” ของ พล.อ.ประวิตร นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. อยู่

อ่านข่าว : "3ส.ว." ชี้ อำนาจ3ป. ขึ้นอยู่ 3ปัจจัย ประเมินหลังเลือกตั้ง การแย่งอำนาจไม่จบ

โดยในช่วงเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีการขุดคดีกล่าวหา “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา กรณีอนุมัติให้ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ใช้ที่ดินสาธารณะที่ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนเพื่อขยายเขตโรงงาน

การที่อยู่ ๆ “บิ๊กป๊อก” ก็ถูกขุดคุ้ยคดีนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะรู้กันอยู่ว่า “บิ๊กป๊อก” คือ “3 ป.” โดยช่วงศึกซักฟอกถูก “เลื่อยขา” โดย “ผู้กองคนดัง” ที่อยู่เคียงข้าง “บิ๊กป้อม”

ขณะที่ในฟากของสาย “บิ๊กป้อม” ก็ยังมีคดีคาราคาซัง ค้างคาอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะกรณี ร.อ.ธรรมนัส ถูกกล่าวหาว่า “แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ” โดยการไม่แจ้งการถือครองหุ้นของตัวเอง และของภรรยาที่เกิน 5% รวมถึงรายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเดือนละ 3 ล้านบาทด้วย

ทั้ง “กลุ่มบิ๊กป้อม” และ “กลุ่มบิ๊กตู่” มีคดีอะไรค้างอยู่ในชั้น ป.ป.ช. บ้าง “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมมานำเสนอดังนี้

ขุดคดีเก่า "3 ป.” วัดกำลังยึดพปชร. ขั้ว “ประวิตร-ประยุทธ์” งัดข้อ

“กลุ่มบิ๊กป้อม” ถูกร้องเรียนกล่าวหาอย่างน้อย 2 รายได้แก่

หนึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนกรณีถูกครอง “นาฬิกาหรู” ใน 2 ประเด็นคือ 1.แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือไม่ 2.เป็นกรณีรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทหรือไม่

ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก “ตีตก” คำร้องไปทั้งหมดแล้ว อย่างไรก็ดีมีประเด็นใหม่คือ ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยผลการไต่สวน และคำชี้แจงของ “บิ๊กป้อม” ให้แก่สื่อออนไลน์สำนักหนึ่ง ดังนั้นต้องรอดูว่าจะมีประเด็นอะไรให้ถูกขุดคุ้ยเพิ่มเติมหรือไม่

สอง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถูกสำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบ “บัญชีทรัพย์สินเชิงลึก” ยังอยู่ระหว่างชั้นต้น มีความคืบหน้าไปแล้ว 60-70% ก่อนจะรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานทั้งหมดส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาในเร็ว ๆ นี้

โดย ร.อ.ธรรมนัส ถูกไต่สวนกรณีแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ 3 กรณี 1.กรณีการถือครองหุ้นบริษัท เดอะบางกอก อะไลฟ์ จำกัด ทำธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เช่าพื้นที่ทำตลาด จำนวน 15,000 หุ้น (คิดเป็น 30% ของทุนจดทะเบียน) แต่มิได้แจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ

2.กรณีนางอริสรา พรหมเผ่า ถือครองหุ้นบริษัท สบายใจ มาร์เก็ต จำกัด จำนวน 40,000 หุ้น มูลค่า 4 ล้านบาท (คิดเป็น 80% ของทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท) บริษัท ฮันนี สไมล์ ฮอลิเดย์ (2018) จำกัด จำนวน 8,000 หุ้น มูลค่า 200,000 บาท (คิดเป็น 80% ของทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท)  บริษัท รักษาความปลอดภัย พี.ที.การ์ด จำกัด จำนวน 140,000 หุ้น มูลค่า 14 ล้านบาท (คิดเป็น 70% ของทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดยทั้ง 3 บริษัทนางอริสาถือครองหุ้นเกิน 5% แต่มิได้แจ้งต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอรับประโยชน์ อาจเข้าข่ายไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543

3.กรณีการแจ้งมีรายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเฉลี่ยเดือนละ 3 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ปรากฏชื่อถือหุ้นในบริษัทขายสลากแต่อย่างใด

ขณะที่ “กลุ่มบิ๊กตู่” มีเรื่องถูกร้องเรียนกล่าวหามากกว่า อย่างน้อย 4 กรณี ได้แก่

หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกร้องเรียนกล่าวหาเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 ล้มเหลวและผิดพลาด ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ยังมิได้มีการสรุปสำนวนเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา

สอง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ตั้งองค์คณะไต่สวน (มีกรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ) กล่าวหา พล.อ.อนุพงษ์ กับพวกรวม 6 ราย คดีลงนามในคำสั่งอนุมัติให้ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือกระทิงแดง ใช้ที่ดินสาธารณะจำนวน 31 ไร่ ที่ขึ้นทะเบียนเป็น “ป่าชุมชน” เพื่อขยายเขตโรงงาน โดยตั้งประเด็นว่าไม่ทำประชาพิจารณ์กับชุมชนก่อน แต่กลับปรากฏในรายงานของกระทรวงมหาดไทยว่ามีการทำประชาพิจารณ์แล้ว

สาม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หนึ่งในแกนนำ “กลุ่มสามมิตร” ถูกกล่าวหาสมัยเป็น รมว.คมนาคม ยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร กรณีเกี่ยวกับการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แบบ A340-500 และ A340-600 รวม 10 ลำ วงเงิน 5.3 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สิ้นเพิ่มขึ้น โดยในช่วงเวลาดังกล่าวนายสุริยะ เป็นผู้เสนอ ครม. เพื่ออนุมัติให้จัดซื้อเครื่องบินทั้ง 10 ลำดังกล่าว

สี่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ถูกกล่าวหา 2 ได้แก่ 1.คดีแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ กรณีการแจ้งบัญชีเงินฝาก และถือครองบ้านใน จ.พิษณุโลก ปัจจุบันคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหา พล.อ.ปรีชา กรณีนี้แล้ว

2.คดี หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ของนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชา จดทะเบียนจัดตั้งในค่ายทหารสมเด็จพระเอกาทศรถ กองทัพภาคที่ 3 ก่อนจะเข้าประมูลงานจัดซื้อจัดจ้าง และเป็นผู้ชนะการประมูลงานของกองทัพภาคที่ 3 หลายโครงการ รวมวงเงินหลายร้อยล้านบาท โดย ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และลงพื้นที่ตรวจสอบที่ตั้งของ หจก.ดังกล่าวแล้ว แต่กระบวนการยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นอยู่

ทั้งหมดคือสารพัดคดีความกล่าวหาร้องเรียนในชั้น ป.ป.ช. ของ 2 กลุ่มขั้วการเมืองใหญ่ใน พปชร. ที่จะเห็นได้ว่า “กลุ่มบิ๊กตู่” ถูกรุกไล่ตรวจสอบมากกว่า “กลุ่มบิ๊กป้อม” 

ท้ายที่สุด คดีเหล่านี้จะถูกนำไปขยายผล ใช้เป็นช่องทางในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป