พลิกโฉมการเกษตรไทย ด้วย Deep Tech

พลิกโฉมการเกษตรไทย ด้วย Deep Tech

พลิกโฉมการเกษตรไทย ด้วย Deep Tech การเกษตรดิจิทัลถือว่าเป็นวิธีที่ตอบโจทย์ผู้ใช้เนื่องจากมีข้อมูลเกี่ยวกับด้านการเกษตรอยู่มากมายมหาศาล

นางสาวมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม NIA โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center: ABC Center) ได้กล่าวถึงการใช้ Deep Tech หรือเทคโนโลยีเชิงลึกมาพลิกโฉมวงการเกษตรของประเทศไทย โดยกำหนดเกณฑ์การประเมินผู้ประกอบการที่เป็น Deep Tech Enterprise ได้แก่ 1. มีงานวิจัยรับรองโดยเน้นทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม หรือ สหวิทยาการ ที่มีระยะเวลาการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นมากกว่า 5 ปีขึ้นไป 2. นวัตกรรมที่ใช้ต้องมีความหลากหลายและซับซ้อนของเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์และนำไปประยุกต์ใช้ได้

 3. นวัตกรรมดังกล่าวจะต้องมีฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาและฐานของงานวิจัยที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ และ 4. ธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์สามารถสร้างตลาดใหม่ที่ก้าวข้ามขีดจำกัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมีกองทุน Deep Tech ทางด้าน Ag Tech ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านเหรียญ

ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในการทำ Deep Tech อยู่เช่นกัน การเกษตรดิจิทัลถือว่าเป็นวิธีที่ตอบโจทย์ผู้ใช้เนื่องจากมีข้อมูลเกี่ยวกับด้านการเกษตรอยู่มากมายมหาศาลและข้อมูลดังกล่าวนั้นสามารถนำไปใช้ร่วมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องจักรมาช่วยตั้งแต่การปลูกพืชไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งในประเทศไทยมีธุรกิจ Startup ที่นำ Deep Tech มาใช้แล้ว 

ตัวอย่างเช่น ‘ricult’ เป็นสตาร์ทอัพไทยที่เพิ่งได้รับรางวัล Startup of the year เมื่อปี 2563 ได้นำภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ทำนายผลผลิต พยากรณ์อากาศ คำนวณดินที่ใช้ปลูกรวมถึงปริมาณการใส่ปุ๋ยและรดน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถคาดการณ์รายได้ของเกษตรกรโดยนำข้อมูลทั้งหมดมาคำนวณ Credit Score ได้อย่างแม่นยำ กับ ‘FARMAI’ ผู้ผลิตแอปพลิเคชันให้บริการเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยี Ai มาประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อพัฒนาเกษตรกรและกระบวนการผลิต

ประเทศไทยมีพืชพันธุ์หลากหลายและมีทรัพยากรมากเป็นอันดับ 9 ของโลก และมีเทรนด์ในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรไม่ว่าจะเป็น 1. Soil Microbiome 2. Biological Pest Control 3. Gene Editing 4. Data driven biology โดย Microbiome Analysis คือการวิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร โดยมีตัวอย่างสตาร์ทอัพ ‘BIOMECARE’ จากประเทศสเปนที่ติด 1 ใน 5 ในเรื่อง Microbiome Analysis ของโลก ได้นำเชื้อจุลินทรีย์ไมโครไบโอมในดินที่เหมาะสมมาใช้ในการเกษตรและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนอีกเทรนด์ที่กำลังมาแรงอย่าง Synthetic Biology เป็นการสังเคราะห์ยีนส์ที่เหมาะสมมาใช้งานโดยในประเทศไทยมี ‘SynBio’ เป็นบริษัทสตาร์อัพที่ใช้เทคโนโลยีสังเคราะห์สายพันธุ์ในระดับชีวภาพที่ตอนนี้กำลังวิจัยเกี่ยวกับกัญชง/กัญชาเพราะปัจจุบันมีตลาดของกัญชงกัญชาทั่วโลกมูลค่าสูงถึง 103,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เทรนด์ที่น่าสนใจต่อมาคือ Genetic Modification ที่ทั่วโลกเริ่มมีการลงทุนในด้านนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมี ‘Tropic’ สตาร์ทอัพจากอิสราเอลที่ได้ปรับปรุงเมล็ดพันธุ์และนำยีนส์มาดัดแปลงโดยใช้เทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีสินค้าการเกษตรที่โดยเด่นอีกมากมาย แต่ปัญหาคือมีผักหรือผลไม้บางชนิด โดยเฉพาะที่เป็นผลไม้เมืองร้อนจะมีระยะเวลาคงรูปค่อนข้างสั้น 

ดังนั้น Postharvest Technology มีส่วนช่วยในกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์คงความสดยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรมาใช้ การบรรจุภัณฑ์ การไม่ใช้สารเคมีมาเจือปน และการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ยกตัวอย่างบริษัทที่ทำได้แก่ ‘purfresh’ สตาร์ทอัพจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำห้องเก็บบรรจุภัณฑ์โดยใช้โอโซนเข้ามาช่วยถนอมสินค้า ส่วนในประเทศไทยเองก็มีบริษัท ‘EDEN Agritech’ ที่นำสารสกัดจากธรรมชาติมาใช้เคลือบผักผลไม้เพื่อยืดอายุพืชผักผลไม้ให้นานขึ้น

จากตัวอย่าง Startup ทั้งไทยและต่างประเทศจะเห็นว่า Deep Tech มีความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตร อีกทั้งยังข่วยลดการใช้แรงงานมนุษย์และประหยัดต้นทุน ถือว่าเป็นโจทย์ที่มาช่วยพลิกโฉมให้กับประเทศไทยได้ทีเดียว