ปชป.เชียร์เลิก"เคอร์ฟิว"ชี้ผู้ประกอบการรายย่อยช้ำหนัก

ปชป.เชียร์เลิก"เคอร์ฟิว"ชี้ผู้ประกอบการรายย่อยช้ำหนัก

"ปชป." เชียร์ถึงเวลาเลิกเคอร์ฟิวได้แล้ว หลังผู้ประกอบการรายย่อยช้ำหนัก จากการกำหนดเวลาเปิด-ปิดต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และนายพันธ์พิสุทธิ์ นุราช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตบึงกุ่มปชป. นำตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหาร และร้านค้ารายย่อย รวมถึงหาบเร่แผงลอย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยื่นข้อเรียกร้องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านนายราเมศรัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา เรียกร้อง ศบค. ยกเลิกเคอร์ฟิว หรือขยายเวลาเคอร์ฟิวเพิ่มเติมจาก 21.00 น. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยให้กลับมาดำเนินกิจการต่อได้ เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่าผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านค้า ธุรกิจกลางคืน และหาบเร่แผงลอย เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 และได้มีความพยายามที่จะปรับตัวตามมาตรการการบริหารของภาครัฐมาโดยตลอด แม้ปัจจุบันจะได้รับอนุญาตให้เปิดบริการและนั่งทานในร้านได้แล้วแต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องของการกำหนดระยะเวลาเคอร์ฟิวตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ให้เปิดบริการได้ไม่เกิน 21.00 น. ซึ่งไม่เพียงพอต่อการหารายได้ในแต่ละวัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เริ่มดำเนินการในช่วงเย็น ที่จะต้องเตรียมตัวปิดร้านหลังเวลาเปิดได้ไม่นาน ทำให้เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ในขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้รับความสะดวกสบายในการรับประทานอาหารด้วยเช่นกันเพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะ Work from home หรือเลือกทานอาหารได้ในช่วงเวลาจำกัด

ทั้งนี้ ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. เข้าใจความเดือดร้อนดังกล่าวของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี จึงอยากให้ศบค. พิจารณาผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้ประคองธุรกิจผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นคืนในเร็ววัน โดยนายปริญญ์เน้นย้ำในตอนท้ายว่า "เวลา" ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ไม่ควรนำมาใช้ตีกรอบการประกอบอาชีพของประชาชน 

 

ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวเพิ่มเติมว่าวันนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะให้มาตรการด้านสาธารณสุขกับมาตรการทางด้านเศรษฐกิจเดินไปควบคู่กัน เพราะอย่างไรก็ตามประเทศก็มีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายมาตรการบางอย่างเพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐจัดทำ Good Practice ให้เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท เช่นเดียวกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มี Good Factory Practice เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนได้เตรียมพร้อมกับการเตรียมเปิดประเทศ 

 

"หากวันนี้ยังไม่เตรียมการทำอะไรเพิ่มเติม เชื่อว่าในวันที่รัฐบาลเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ อาจไม่เหลือผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายย่อย ที่จะมารองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศมาในอนาคตได้" นางดรุณวรรณ กล่าว