"โฆษก ปชป."มั่นใจ"แก้ รธน."ถูกต้อง-ไม่หวั่นยื่นศาล รธน.ตีความ

"โฆษก ปชป."มั่นใจ"แก้ รธน."ถูกต้อง-ไม่หวั่นยื่นศาล รธน.ตีความ

"ราเมศ" มั่นใจเต็มที่ "แก้ รธน." ถูกต้องตามกระบวนการนิติบัญญัติ ไม่กังวลหาก "พรรคเล็ก" เตรียมยื่น "ศาล รธน." ตีความ

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564  นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการกล่าวถึงเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้ผ่านวาระสามไปแล้ว ว่า ไม่กังวลที่มี ส.ส.ในส่วนของพรรคเล็กที่กำลังรวบรวมรายชื่อส.ส.เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถ้ารวบรวมรายชื่อได้ครบ หนึ่งในสิบของจำนวนส.ส.หรือ หนึ่งในสิบของจำนวน ส.ส. หรือ ส.ว. รวมกัน ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ แต่มั่นใจในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ได้ดำเนินการถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ทั้งสามวาระไม่มีขั้นตอนใดที่ผิดหลักการความถูกต้อง

ส่วนการพิจารณาในชั้นรับหลักการ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่ .. พ.ศ. .… (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ที่ว่าด้วยเรื่องระบบเลือกตั้งนั้น การที่รัฐสภารับหลักการมาในร่างดังกล่าวซึ่งมีหลักการและเหตุผลเป็นเรื่องการแก้เรื่องระบบการเลือกตั้งอย่างชัดเจน  ในวาระที่สองคือในชั้นคณะกรรมาธิการ ก็ต้องมีการพิจารณาให้มีความละเอียดรอบคอบ หากมีมาตราใดที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง หากต้องการปรับแก้ในมาตราใดข้อความใดเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและเหตุผลคือในส่วนของระบบเลือกตั้งก็สามารถทำได้ ทั้งในส่วนของกรรมาธิการและสมาชิกรัฐสภาที่ยื่นแปรญัตติไว้

ที่สำคัญข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 124 ได้ระบุไว้ชัดว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นคณะกรรมาธิการสมาชิกรัฐสภาสามารถที่จะแปรญัตติได้และในวรรคที่สามได้ระบุไว้ชัดอีกว่าการแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิมต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีเจตนารมณ์ชัดว่าสมาชิกสามารถดำเนินการได้ตรวจตราในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการได้ด้วย เพื่อให้รัฐธรรมนูญเมื่อแก้ไขแล้วสามารถบังคับใช้ได้โดยไม่ขัดหรือแย้งกัน ก็มีการปรับข้อความในมาตรา 86 ในเรื่องจำนวนตัวเลข จากจำนวนส.ส.ในระบบเขตจำนวน 350 คน เป็น 400 คน เพื่อให้ข้อความสอดคล้องกับมาตรา 83 ที่มีการขอแก้ไขจำนวน ส.ส.ให้มี ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง 400 คน ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน หากไม่มีการปรับข้อความในมาตรา 86 ก็จะขัดแย้งกัน 

 

สรุปมีการพิจารณาแก้ไข 3 มาตรา คือ มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 ไม่มีการเพิ่มเติมส่วนไหนที่ขัดกับหลักการของร่างแต่อย่างใด ทุกกระบวนการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับอย่างเคร่งครัด 

 

นายราเมศ กล่าวต่อว่า การแก้ไขระบบเลือกตั้ง เป็นแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ถ้าคิดว่าหลักการดี อย่าไปคิดว่าพรรคใดจะได้ประโยชน์ เพราะต้องถือว่าประเทศ ประชาชนได้ประโยชน์ ท้ายที่สุดอยู่ที่ประชาชน หากได้ส่งเสริมให้พรรคการเมืองเกิดความเข้มแข็ง ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นในการใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งผู้สมัครและพรรค ก็เป็นผลดีต่อระบบประชาธิปไตยในอนาคต จึงไม่อยากให้คิดบนพื้นฐานอคติ หรือคิดเพื่อประโยชน์ส่วนตนของพรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะถ้าคิดเช่นนั้นยากต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในอนาคต