การเมืองเรื่องวัคซีน “ฉีด-ไม่ฉีด” ใครชนะ

การเมืองเรื่องวัคซีน “ฉีด-ไม่ฉีด” ใครชนะ

การฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนกำลังเป็นประเด็นร้อนในสถานประกอบการ เมื่อพนักงานจำต้องกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ จนเกิดความระแวงกันว่า เพื่อนร่วมงานฉีดวัคซีนหรือยัง

การเมืองในออฟฟิศเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยเจอในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนหลายล้านคนต้องทำงานจากบ้านผลพวงจากการล็อกดาวน์เพราะโควิด-19 ระบาด  ตอนนี้เมื่อพนักงานหลายคนเริ่มกลับมาทำงานในบริษัท ความตึงเครียดกำลังปรากฏขึ้นในแนวรบใหม่ นั่นคือระหว่างคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้วกับคนที่ยังไม่ได้ฉีด 

โดยเฉพาะในสหรัฐที่หลายบริษัทใช้ไม้แข็งกับการฉีดวัคซีนของพนักงาน หลายแห่งประกาศว่า ต้องฉีดวัคซีนให้ครบโดสก่อนกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ และเมื่อปลายเดือน ส.ค. สำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคเต็มรูปแบบ ยิ่งเติมเชื้อไฟความขัดแย้งในสถานประกอบการ เท่ากับว่าพนักงานแทบจะนำเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนมาเป็นข้ออ้างไม่ฉีดได้อีกต่อไป บางคนแสดงจุดยืนแข็งกร้าวว่าควรบังคับฉีดด้วยซ้ำไป

บริษัทที่ปรึกษา Seyfarth at Work สำรวจความคิดเห็นจากพนักงานหลายร้อยคนถึงปลายเดือน ส.ค. พบว่า ความขัดแย้งในที่ทำงานเรื่องวัคซีนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆผู้ให้ข้อมูลแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ พวกฉีดแล้วยังกังวล กับพวกไม่ฉีดไม่กลัว ต่างโต้เถียงกันเรื่องฉีดวัคซีนกับไม่ฉีด เกิดความรู้สึกไม่พอใจกันมากขึ้นทุกขณะ

บริษัทราว 37% รายงานว่า พนักงานที่ฉีดวัคซีนแล้วโกรธและหงุดหงิดกับความเสี่ยงอาจติดโรคที่เกิดจากพนักงานผู้ไม่ได้ฉีดวัคซีน พนักงานคนหนึ่งของบริษัทซ่อมบ้าน “อีสต์โคสต์” ระบุ

“ฉันมียายและเด็กเล็กที่บ้าน ทำไมคนปฏิเสธวิทยาศาสตร์แค่ 20 กว่าคนต้องทำให้พวกเขาตกอยู่ในความเส่ี่ยง”

พนักงานฉีดวัคซีนแล้วยังไม่พอใจที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเพื่อนร่วมงานบางคนที่อาจจะป่วย ขณะที่คนอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดระเบียบในที่ทำงานแตกต่างกัน (เช่น ระเบียบสวมหน้ากาก 2 ชุด) เพราะมีคนไม่ฉีดวัคซีน

ขณะเดียวกันคนไม่ฉีดวัคซีนก็โอดครวญเรื่องสิ่งที่ได้รับในที่ทำงาน บริษัท 21% กล่าวว่า พนักงานกลุ่มนี้โวยวายว่าเจออคติจากเพื่อนร่วมงานคนที่ฉีดวัคซีนแล้วได้โอกาสดีกว่า แถมพวกเขายังต้องมีภาระตรวจหาเชื้ออย่างสม่ำเสมอ

ที่บริษัทวิศวกรรมแห่งหนึ่งพนักงานไม่ฉีดวัคซีนตั้งกลุ่มสนับสนุนเฉพาะกิจขึ้นมาแล้วเรียกตนเองว่า “Vexcluded” สมาชิกกลุ่มคนหนึ่งเล่า “ความกลัววัคซีนทำให้พวกเรากลายเป็นผู้ถูกเบียดขับออกจากออฟฟิศ”

ฟิลิป วีส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบริษัท ประธาน Seyfarth at Work กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ข้อพิพาทในที่ทำงานแบ่งออกได้ 4 ประเภท

1. โต้เถียงกันด้วยวาจา อีเมล Slack (แอพสื่อสารในที่ทำงาน) อินทราเน็ต

2. แยกตัวออกห่าง ไม่นั่งหรือทำงานใกล้ๆ กัน

3. ประท้วง เกิดความขัดแย้งระหว่างพนักงานกับผู้จัดการเรื่องนโยบายกระทบกับคนที่ฉีดและไม่ฉีดวัคซีน

4. โพสต์เกรี้ยวกราดบนโลกออนไลน์

“บางออฟฟิศเราเห็นความเป็นปรปักษ์พุ่งสูงมาก ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์รายงานถึงความเครียดระหว่างพยายามจัดการใช้นโยบายความปลอดภัยโควิดที่เปลี่ยนแปลงบ่อยมาก บางกรณีมีเสียงบ่นมากมายจากทั้งคนฉีดและไม่ฉีดวัคซีน” วีสกล่าวและคาดว่า ความแตกแยกจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อผู้คนกลับเข้าออฟฟิศมากขึ้น

“คนที่จำเป็นต้องทำงานในออฟฟิศ หรือมาออฟฟิศเป็นประจำในปีที่ผ่านมา ปรับตัวเข้ากับระเบียบสำนักงานที่เปลี่ยนแปลงไปได้แล้ว และมักจะเกิดความเข้าใจ อีกทั้งยังปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่อีกหลายล้านคนที่เคยทำงานทางไกลนี่สิ พวกเขาไปเจอคนคอเดียวกันมานานหลายเดือนยิ่งตอกย้ำทัศนคติเกี่ยวกับวัคซีนและมาตรการป้องกันโควิด กลุ่มนี้ปรับตัวและเปิดใจน้อยกว่า”

บังคับฉีดวัคซีน

แอนโทนี มินจิโอนี ทนายความการว่าจ้างงานและหุ้นส่วนบริษัทกฎหมายแบลงค์โรมในนิวยอร์ก กล่าวว่า ความขัดแย้งและไม่พอใจเรื่องการฉีดวัคซีนและสวมหน้ากากอนามัยในที่ทำงานเด่นชัดมาก และกำลังส่งผลต่อการกลับเข้าออฟฟิศ

“ความตึงเครียดระหว่างเพื่อนร่วมงานที่ฉีดกับไม่ฉีดวัคซีนเป็นประเด็นสำคัญทำให้อัตราการกลับเข้าออฟฟิศช้า ความขัดแย้งหนึ่งคือการปะทะกันระหว่างพนักงานที่ฉีดวัคซีนแล้วกลับไปทำงานในออฟฟิศ กับคนที่ยังไม่ฉีดแล้วยังทำงานทางไกล หลายครั้งคนที่ฉีดแล้วรู้สึกว่าพวกตนไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ต้องมารับผิดชอบงานของเพื่อนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน”

มินจิโอนีกล่าวว่า ตอนนี้นายจ้างต้องออกนโยบายโควิดของตนเอง หลังรัฐบาลผ่อนคลายข้อกำหนดความปลอดภัย จึงพบว่าพวกตนกำลังอยู่ในพื้นที่สีเทา

“เมื่อไม่มีกฎระเบียบที่รุนแรงและรวดเร็ว ภาคธุรกิจที่ต้องการให้พนักงานกลับออฟฟิศก็ต้องใช้ระเบียบที่ทำให้พนักงานกลับมาทำงานและดูแลพวกเขาให้ปลอดภัยไปพร้อมกันด้วย ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองแบ่งขั้ว”

ลูซี ลูอิส หุ้นส่วนบริษัททนายความทรัพยากรมนุษย์ “ลูอิส ซิลค์อิน” เห็นด้วยว่า นี่คือบทพิสูจน์ความยากสำหรับภาคธุรกิจ

"แน่นอนว่า นายจ้างอยากแสดงบทบาทอย่างยุติธรรมพร้อมๆ กับดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงานและลูกค้า ความท้าทายใหญ่สุดคือ รัฐบาลไม่ได้ออกคำแนะนำว่าบริษัทต้องฉีดวัคซีนให้พนักงานในสัดส่วนมากน้อยแค่ไหนถึงจะเหมาะสมหรือปลอดภัยตามมาตรฐาน"

ไม่ฉีดเสี่ยงตกงาน 

สถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนที่กำหนดให้พนักงานต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดส กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ก่อนหน้านี้สหรัฐไม่ได้บังคับฉีดวัคซีนป้องกันโควิด แต่บางรัฐพยายามบังคับในบางธุรกิจและกิจกรรม แน่นอนว่าทำแบบนี้ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งกลายเป็นการประท้วงใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศ

แต่สัปดาห์ก่อนประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงท่าทีแข็งกร้าวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กดดันให้นายจ้างภาคเอกชนฉีดวัคซีนพนักงานให้มากขึ้น รวมถึงบังคับให้พนักงานรัฐบาลกลาง คู่สัญญา และเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพต้องฉีดวัคซีน

ไม่ได้มีแค่สหรัฐ ความเคลื่อนไหวนี้ยังมีในสหราชอาณาจักร (ยูเค) และอีกหลายประเทศในยุโรป

นอกจากนี้นโยบายฉีดวัคซีนอาจเป็นตัวตัดสินด้วยว่า พนักงานคนใดจะได้ทำงานต่อและคนใดควรออกไป ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่บริษัทควอลตริกซ์ เก็บข้อมูลทางออนไลน์จากพนักงานชาวอเมริกัน อายุ 21 ปีขึ้นไป กว่า 1,051 คน เมื่อเดือน ส.ค. พบว่า พนักงานส่วนใหญ่ (60%) สนับสนุนให้บังคับฉีดวัคซีนเพื่อกลับเข้าออฟฟิศ 23% กล่าวว่า พวกเขาคิดจริงจังเรื่องออกจากงานถ้านายจ้างบังคับฉีด

ส่วนการสนับสนุนบังคับฉีดวัคซีนแตกต่างกันไปตามภาคธุรกิจ พนักงานในภาคเทคโนโลยีสนับสนุน

75% พนักงานภาครัฐสนับสนุน 58%

ผู้ชาย 63% สนับสนุนให้บังคับพนักงานฉีดวัคซีนมากกว่าผู้หญิงที่สนับสนุน 56% ความเกี่ยวข้องทางการเมืองก็สัมพันธ์ด้วย โดย 81% ของผู้ที่ระบุว่าเป็นเดโมแครตสนับสนุนให้บังคับฉีดวัคซีนพนักงาน ส่วนผู้ที่เป็นรีพับลิกันคิดเช่นนี้เพียง 45% เท่านั้น

มินจิโอนีจากแบลงค์โรมกล่าวต่อว่า นายจ้างบางคนลังเลออกกฎบังคับฉีดวัคซีนและสวมหน้ากากในสำนักงานเพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งนั่นทำให้เกิดความขัดแย้งกันมากขึ้น

“การเลือกบังคับหรือไม่บังคับใช้นโยบายใดๆ แม้ด้วยเจตนาดี แต่อาจทำให้พนักงานขาดขวัญกำลังใจ ขัดแย้งกัน และผลิตภาพต่ำ เมื่อสายพันธุ์เดลตาพุ่งพรวด ข่าวการติดเชื้อทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีนแล้วมีให้เห็นมากมาย ความขัดแย้งในที่ทำงานมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น” ทนายความสรุป