‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่32.86บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่32.86บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้แนวโน้มเงินบาทมีโอกาสกลับไปอ่อนค่าแตะ33บาทต่อดอลลาร์ระยะสั้น จากปัจจัยเสี่ยงในประเทศทั้งอาจเกิดระบาดระลอกใหม่ ต่างชาติอาจลดการถือครองสินทรัพย์ไทยและตลาดเริ่มปิดรับความเสี่ยงหนุนดอลลาร์แข็งค่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่32.80- 32.95บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(16ก.ย.)  ที่ระดับ  32.86 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.88 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-32.95 บาทต่อดอลลาร์

แนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองว่า ยังมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านสำคัญที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ จากปัจจัยความเสี่ยงในประเทศ ทั้งสถานการณ์การระบาดในประเทศที่อาจเจอการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มลดสถานะถือครองสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะฝั่งผู้เล่นที่เคยเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทผ่านบอนด์ระยะสั้น ก็เริ่มปิดสถานะเก็งกำไรดังกล่าวมากขึ้น (สองวันที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติ ขายบอนด์ระยะสั้นสุทธิกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท)

ขณะเดียวกัน ต้องจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพราะหากตลาดกังวลการฟื้นตัวมากไป จนปิดรับความเสี่ยง ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง

ผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจในช่วงหลัง COVID และกลับมา buy on dip หุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ที่ย่อตัวลงมาใกล้แนวรับเชิงเทคนิคหรือเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน หนุนให้ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างรีบาวด์ขึ้นมาหลังจากที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า 

 

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent ต่างปรับตัวขึ้นราว +3% สู่ระดับ 72.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 75.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากแนวโน้มกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวจากจากผลกระทบพายุ Nicholas และ รายงานยอดน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ลดลงกว่า -6.42 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.85% ส่วนหุ้นเทคฯ ก็รีบาวด์กลับขึ้นมาเช่นกัน ทำให้ ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.82% ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 กลับปรับตัวลดลงกว่า -1.09% กดดันโดยหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมที่ปรับตัวลดลง ตามความกังวลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายและกำไร (ยอดขายในจีนคิดเป็นสัดส่วนของรายได้กว่า 30%) Kering -4.1%, Louis Vuitton -4.0%, Adidas -2.8%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดสหรัฐฯ ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 2bps สู่ระดับ 1.30% ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก เพราะผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ หาก รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯอย่าง ยอดค้าปลีก รวมถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 92.48 จุด ทั้งนี้ แนวโน้มเงินดอลลาร์ อาจขึ้นอยู่กับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ว่าจะออกมาในทิศทางไหน โดยเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่กว่าคาดไปมาก จนตลาดปิดรับความเสี่ยงหนัก แต่หากข้อมูลเศรษฐกิจไม่ได้ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เงินดอลลาร์ก็อาจจะทรงตัว sideways หรือ อ่อนค่าลงได้บ้าง ทั้งนี้ ทิศทางเงินดอลลาร์ในระยะถัดไปจะขึ้นกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นกัน โดย เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้ ในกรณีที่เศรษฐกิจยุโรปหรือเอเชียมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งกว่าสหรัฐฯ 

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากการประชุมเฟดวันที่21-22 กันยายน นั้นเริ่มใกล้เข้ามา ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะมีมุมมองต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางการปรับลดคิวอี อย่างไร หลังจากที่ล่าสุด บรรดานักวิเคราะห์ต่างเริ่มทยอยปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากผลกระทบของการระบาด Delta ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า การบริโภคอาจชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 สะท้อนผ่าน ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม ที่จะหดตัวกว่า -0.8% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การหดตัวของยอดค้าปลีกอาจเริ่มสะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนจากการซื้อสินค้า เป็นการใช้บริการต่างๆ มากขึ้น ตามการทยอยเปิดเมือง

 

ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ภาคการค้ายังคงเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยยอดการส่งออก (Exports) เดือนสิงหาคม จะโตกว่า +33%y/y ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็จะขยายตัวราว +40%y/y ทำให้โดยรวมญี่ปุ่นอาจเกินดุลการค้ากว่า138 พันล้านเยน ทั้งนี้ ยอดการส่งออกในเดือนกันยายน อาจชะลอลงจากความต้องการที่ลดลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก