"อีอีซี" โชว์ผลงานยอดลงทุน 3 ปี ทะลุ 1.6 ล้านล้านบาท หลังยอดขอส่งเสริมพุ่ง

"อีอีซี" โชว์ผลงานยอดลงทุน 3 ปี ทะลุ 1.6 ล้านล้านบาท หลังยอดขอส่งเสริมพุ่ง

บอร์ด กบอ.รับทราบคืบหน้า 3 ปี อีอีซี เดินหน้าลงทุนเป็นรูปธรรม สร้างเงินลงทุนรวม 1.6 ล้านล้านบาท เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ว่าที่ประชุม กบอ. รับทราบ ความก้าวหน้าลงทุนในพื้นที่ อีอีซี นับตั้งแต่เกิด พ.ร.บ. อีอีซี ปี 2561 – มิ.ย. 2564 เกิดการลงทุนรวมที่ได้รับอนุมัติแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 94 จากเป้าหมายแผน 5 ปี (2561-65) ของอีอีซี 1.7 ล้านล้านบาท เร็วกว่าเป้าที่กำหนดไว้

 

แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1.1. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 4 โครงการหลัก (รถไฟฯ/สนามบินฯ/ 2 ท่าเรืออุตสาหกรรม) มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท แบ่งเป็น ทุนจากภาคเอกชน 387,018 ล้านบาท (ร้อยละ 61) จากภาครัฐ 196,940 ล้านบาท (ร้อยละ 39)

1.2. การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (จากการออกบัตรส่งเสริมบีโอไอ) มูลค่า 878,881 ล้านบาท (โครงการที่ขอยื่นส่งเสริมลงทุน ช่วงปี 2560 - มิ.ย. 2564 ลงทุนจริงแล้วกว่าร้อยละ 85)

1.3. การลงทุนผ่านงบบูรณาการอีอีซี มูลค่า 82,000 ล้านบาท  สำหรับการลงทุนช่วง 6 เดือนที่ผ่าน (ม.ค.-มิ.ย. 64) มีการขอรับส่งเสริมลงทุน 232 โครงการ เงินลงทุน 126,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 (จากช่วงเดียวกันปี 63) การอนุมัติส่งเสริมลงทุน 195 โครงการ เงินลงทุน 74,250 ล้านบาท และออกบัตรส่งเสริม 187 โครงการ เงินลงทุน 88,083 ล้านบาท

โดยจำนวนขอโครงการสูงสุดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน ส่วนเงินลงทุนสูงสุดคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์ สำหรับการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นร้อยละ 64 ของคำขอลงทุนในอีอีซี ซึ่งนักลงทุนที่สนใจมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ตามลำดับ

 

2.วางกรอบสิทธิประโยชน์ เน้นความต้องการผู้ประกอบการ จูงใจนักลงทุน ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  

 ที่ประชุม กบอ. พิจารณา แผนการดำเนินงานด้านสิทธิประโยชน์ โดยขยายมาตรการสนับสนุนการลงทุน

จากโครงการที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล สู่การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมฯ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ให้เป็น พื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) “การปฏิรูปและยกระดับประเทศไทย ก้าวสู่ 10 อันดับของประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด” และที่ประชุมได้มอบหมายให้ สกพอ. จัดทำ (ร่าง) ประกาศสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่ครอบคลุม สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและที่มิใช่ภาษีอากร เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้นวัตกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ภายใต้การออกแบบสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ (Demand Driven Customization)
เป็นต้นแบบการปฏิรูประบบราชการที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการลงทุน และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

  1. เตรียมพัฒนาพื้นที่ EECd เป็นเมืองดิจิทัลแห่งภูมิภาค ดึงดูดการลงทุน สู่พื้นที่ อีอีซี

ที่ประชุม กบอ. พิจารณา แผนดำเนินการโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) กำหนดแผนปฏิบัติการ ปี 2564 – 2565 จำนวน 4 แผนหลัก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ 1) จัดทำแผนการดำเนินโครงการ (Master Plan) 2) จัดทำแนวคิดออกแบบโครงการฯ (Conceptual Design) 3) วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค

และ 4) จัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนและสิทธิประโยชน์ และตั้งเป้าหมายไตรมาส 4 จะทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ของโครงการฯ พร้อมเจรจาร่วมกับบริษัท-หน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมลงทุน และออกแบบรายละเอียดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆภายในพื้นที่โครงการฯ ช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565

สำหรับการพัฒนาโครงการ EECd แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ระยะที่ 2 พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ศูนย์เรียนรู้ ศูนย์บริการต่างๆ ระยะที่ 3 พัฒนาพื้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และ ระยะที่ 4 พัฒนาพื้นที่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ผสมผสานระบบนิเวศน์ เพื่อการอยู่อาศัยในโลกยุคใหม่ โดยตั้งเป้าให้ EECd เป็นเมืองดิจิทัลระดับโลกในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลแห่งอนาคต และเป็นเมืองอัจฉริยะโดยใช้หลักคิดการพัฒนาเมืองที่เติบโตอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้

  1. ขับเคลื่อนแผนเกษตรอีอีซี คู่ EFC พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน มีคุณภาพชีวิตและรายได้ดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน

ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ร่างแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี (พ.ศ.2566 -2570) ที่ สกพอ. จัดทำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกรอบแนวคิด เน้นตลาดนำการผลิต (Demand Pull) ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) สร้างโอกาสการตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพดี พร้อมเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคเกษตรเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง

โดยเริ่มพัฒนา 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด มะม่วง ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร และเกษตรมูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมียม ตั้งเป้าหมายยกระดับรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ อีอีซี เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรม-บริการ พร้อมให้ GDP ภาคเกษตรในอีอีซี เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบอ. ยังได้พิจารณา โครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ดำเนินการ 4 เรื่องหลัก 1) สร้างสินค้าให้มีคุณภาพตามความต้องการตลาด มุ่งเน้นตลาดกลุ่มลูกค้าทุเรียนพรีเมียม 2) วางระบบการค้าสมัยใหม่ผ่านระบบ e-commerce และ e-auction สร้างมูลค่าให้ทุเรียนของภาคตะวันออก 3) จัดทำห้องเย็นเทคโนโลยีทันสมัยเก็บรักษาความสดใหม่ โดย สกพอ. เร่งดำเนินการให้ทันช่วงฤดูทุเรียนปี 2565  4) จัดระบบสมาชิกชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ที่เข้าร่วม ให้พัฒนาคุณภาพผลผลิตในระดับพรีเมียม ทั้งนี้เพื่อพัฒนาเชิงคุณภาพ ทำให้เกษตรกร ชุมชน คนรุ่นใหม่มีคุณภาพชีวิตและรายได้ดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน