สทนช.แก้โจทย์น้ำภาคอีสาน สู่เป้าหมายจบแล้งจบท่วม

สทนช.แก้โจทย์น้ำภาคอีสาน   สู่เป้าหมายจบแล้งจบท่วม

ลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของไทยมีพื้นที่รวมประมาณ 104 ล้านไร่ มี3 ลุ่มน้ำสำคัญ คือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักประสบกับสภาพทั้งปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม ปัญหาโครงสร้าง การจัดการน้ำ และปัญหาคุณภาพน้ำ

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) 

เปิดเผยว่า  จากพื้นที่ Area Based ในภาคอีสาน16 พื้นที่ ประสบปัญหาด้านน้ำถึง 14 พื้นที่ แบ่งเป็น พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง 13 พื้นที่ เช่น ลุ่มน้ำโมงตอนบน ลุ่มน้ำห้วยหลวง ลุ่มน้ำแม่น้ำสงคราม ลุ่มน้ำพุง-น้ำก่ำ ลุ่มน้ำชีตอนบน ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ลุ่มน้ำมูล และ เมืองบุรีรัมย์-สุรินทร์ รวม 11.7 ล้านไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 1 พื้นที่ คือ ลุ่มน้ำเลยตอนล่าง มีพื้นที่ 6.3หมื่นไร่ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 พื้นที่ ได้แก่ นครพนม และ มุกดาหาร รวม 4.2หมื่นไร่

 

สทนช.แก้โจทย์น้ำภาคอีสาน   สู่เป้าหมายจบแล้งจบท่วม

      ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบและความจำเป็นเร่งด่วน สทนช. ได้ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ปี ครอบคลุมทั้ง 6 ด้าน สอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) พร้อมจัดลำดับความสำคัญ

โครงการตามความเร่งด่วน โดยกำหนดระยะเวลาของแผนพัฒนา ตั้งแต่ปี 2566-2585 

เช่น การเพิ่มขีดความสามารถการเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคมีโครงการเร่งด่วน เช่น ขยายกำลังผลิตประปาภูมิภาคและประปาหมู่บ้าน ปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน ติดตั้งเครื่องกรองน้ำดื่มให้ครบทุกหมู่บ้าน โรงเรียน เป็นต้น การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต อาทิ การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ ระบบส่งน้ำใหม่

โดยแผนระยะ 5 ปี มีทั้งสิ้น 404 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 411,432 ไร่ และโครงการผันน้ำและเชื่อมโยงน้ำ ระยะ 5 ปี 46 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 32,100 ไร่ ที่สำคัญคือการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยโดยสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดินควบคู่กันด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ของแนวทางพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่สามารถพัฒนาได้ตามกรอบงบประมาณปกติ เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการได้เร็วขึ้นและเต็มศักยภาพพื้นที่ด้วย หากดำเนินการตามแผนงานที่ศึกษาวางไว้ข้างต้น จะช่วยให้พื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำต้นทุนที่อุดมสมบูรณ์จากการพัฒนาลำน้ำจากลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงและจากแม่น้ำโขงเข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่ จะช่วยลดปัญหาการเกิดอุทกภัยขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม จากทั้งโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำเดิม และการเพิ่มทางระบายน้ำใหม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความมั่นคงด้านน้ำและลดความเสียหายทั้งด้านอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน

“แม้จะมีข้อจำกัดในการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ แต่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำภายใต้แผนแม่บทน้ำฯ 20 ปีให้เป็นไปตามเป้าหมาย ได้ผลลัพธ์ต่อความมั่นคงน้ำของประเทศ และประโยชน์กับประชาชนอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่"

ทั้งนี้ ภาคอีสานมีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่หาน้ำยาก ตามที่รัฐบาลให้การสนับสนุนงบกลางในช่วงปี 2563 -2564 เช่น

โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่หาน้ำยากในพื้นที่บ้านเหนือ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สามารถเก็บกักน้ำได้กว่า 162,000 ลบ.ม.ต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน์ 104 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 280 ไร่ จึงมั่นใจได้ว่าหากดำเนินการโครงการต่าง ๆ ตามแผนหลักฯ 20 ปี และแผนปฏิบัติการฯ 5 ปี จะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้น้ำต้นทุนให้แก่ภาคอีสานได้มากขึ้น ลดปัญหาอุทกภัย และเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาน้ำครบทุกมิติ

สำหรับสถานการณ์น้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน ซึ่งมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 13 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 3,740 รวม ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43 %จากการคาดการณ์ ณ วันที่ 1 พ.ย.64 จะมีปริมาณน้ำ รวม 5,405 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65 %โดยในช่วงเดือนตั้งแต่เดือน ก.ย.64 มีอ่างเก็บน้ำที่มีแนวโน้มปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง และเขื่อนมูลบน