คลังเตรียมเพิ่มแสนล้านล็อตสองค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู

คลังเตรียมเพิ่มแสนล้านล็อตสองค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู

คลังเตรียมเปิดล็อตสองค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูอีก 1 แสนล้านบาท หลังล็อตแรกใกล้เต็มวงเงิน 1 แสนล้านบาท คาดล็อตสองเริ่มต.ค.นี้ ด้านบสย.เผยยอดค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพุ่งกว่า 1.4 แสนล้านบาท คาดทั้งปีทะลุ 2 แสนล้านบาท

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม( บสย.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการหารือที่จะเปิดล็อตสองวงเงินการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์-พักหนี้ อีกจำนวน 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19

“คาดว่า ภายในเดือนส.ค.นี้ ยอดค้ำประกันสินเชื่อในล็อตแรกจะเต็มวงเงินที่ 1 แสนล้านบาท จากนั้น ก็คาดว่า จะสามารถเริ่มยอดค้ำประกันในล็อตที่สองได้ในเดือนถัดไป เพื่อให้ยอดค้ำประกันสินเชื่อเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ ในล็อตแรกของการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูดังกล่าว ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปลายเม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น สามารถค้ำประกันสินเชื่อได้แล้วประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการประมาณ 2.6 หมื่นราย เฉลี่ยยอดค้ำประกันที่ 3 ล้านบาทต่อราย โดยเกินกว่า 50% เป็นยอดค้ำประกันสินเชื่อจากแบงก์พาณิชย์เอกชน

“ส่วนหนึ่งที่ยอดค้ำประกันสินเชื่อมาจากแบงก์พาณิชย์จำนวนมาก เพราะจำนวนแบงก์พาณิชย์มีเยอะกว่าแบงก์รัฐ ในส่วนแบงก์รัฐนั้น ก็ได้ส่งยอดสินเชื่อมาให้บสย.ค้ำประกันเช่นกัน แต่ต้องยอมรับว่า แบงก์รัฐเองเขาก็มีผลิตภัณฑ์การเงินที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆอยู่จำนวนมาก ดังนั้น ยอดสินเชื่อค้ำประกันอาจจะน้อยกว่าแบงก์พาณิชย์ สำหรับแบงก์รัฐที่ส่งยอดสินเชื่อค้ำประกันมาให้เรามากสุด คือ เอ็กซิมแบงก์”

สำหรับประเภทธุรกิจที่มีการค้ำประกันในโครงการมากที่สุด ได้แก่ 1.การบริการ จำนวน ประมาณ 30% ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว 2.การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ จำนวน 13% 3.การเกษตรกรรม จำนวน 10% 4.อาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 10% และ 5.อื่นๆ อีกประมาณ 40%

สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู มีระยะเวลาขอสินเชื่อตั้งแต่เดือน 26 เม.ย.2564- 9 ต.ค.2566 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท ค้ำประกันสูงสุด 10 ปี ค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 1.75% ต่อปี โดยผู้กู้ 1 ราย สามารถขอกู้สินเชื่อได้ 3 สถาบันการเงินรวมแล้วกู้ได้สูงสุด 450 ล้านบาท

โครงการนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ความช่วยเหลือค้ำประกันเงินกู้ แก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ทั้งกลุ่มขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมถึงบุคคลธรรมดา ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีสภาพคล่อง หรือมีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ โดยใช้ บสย.เป็นหลักประกันในการขอกู้เงินจากธนาคาร มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู

รักษาการผู้จัดการทั่วไปบสย.กล่าวด้วยว่า ในภาพรวมการค้ำประกันของบสย.ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 1.44 แสนล้านบาท คาดว่า ภายในปีนี้จะมียอดค้ำประกันทะลุ 2 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มียอดการค้ำประกันที่ 1.41 แสนล้านบาท