CPF ไม่หวั่นโควิดกระทบรายได้ไตรมาส 3/64

CPF ไม่หวั่นโควิดกระทบรายได้ไตรมาส 3/64

CPF ยอมรับโควิด-19 กดดันรายได้ไตรมาส 3/64 เหตุล็อกดาวน์กระทบประชาชนออกมาจับจ่ายลดลง แต่ยืนยันไม่กระทบการผลิต พร้อมศึกษาดีลซื้อ-ควบรวมกิจการ รองรับการเติบโตหลังโควิดอย่างต่อเนื่อง

นางกอบบุญ ศรีชัย เลขานุการ และหัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และตลาดทุน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 จะถูกกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงคาดว่าผลการดำเนินงานทั้งปี 2564 จะถูกกระทบเช่นกัน เนื่องจากมาตรการควบคุมโรคส่งผลให้ประชาชนลดการออกมาจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดี บริษัทยังเดินหน้าดูแลความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงมีมาตรการรองรับเพื่อให้ธุรกิจยังสามารถเดินหน้าต่อเนื่อง และยังสามารถนำสินค้าออกมาจำหน่ายให้ได้มากที่สุด

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการเชิงรุกผ่านมาตรการ Bubble and Seal เพื่อป้องกันพนักงานสัมผัสกับเชื้อภายนอก และลดความเสี่ยงการนำเชื้อเข้ามาในสถานประกอบการ รวมถึงมีการสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับพนักงานที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อ โดยเป็นการดำเนินงานร่วมกับสาธารณสุขของจังหวัด ทั้งนี้ CPF เป็นบริษัทเดียวที่ไม่ได้ถูกสั่งปิดจากหน่วยงานราชการ แต่บริษัทเต็มใจที่จะปิดทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big Cleaning) ด้วยตนเองเพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินการต่อได้อย่างมั่นใจ

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤตในครั้งนี้ บริษัทยังเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยตั้งงบลงทุนสำหรับปี 2564 ไว้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท สำหรับการลงทุนใน 15-17 ประเทศทั่วโลกที่บริษัทมีฐานการผลิต ล่าสุด บริษัทเข้าซื้อเงินลงทุนในธุรกิจฟาร์มสุกรประเทศรัสเซียเพื่อขยายกำลังการผลิต จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับขนาดตลาดของประเทศดังกล่าวส่วนในประเทศไทยมีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตในธุรกิจอาหารเช่นกัน โดยเฉพาะอาหารเนื้อสัตว์จากพืช (MEAT ZERO)

ทั้งนี้ แม้การขยายธุรกิจในช่วงโควิด-19 จะต้องทำอย่างระมัดระวังแต่บริษัทยังเดินหน้าศึกษาดีลการเข้าซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นกลยุทธ์ขยายธุรกิจที่เร็วที่สุด โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทได้ประกาศเข้าซื้อธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีตัวแทนจำหน่ายและมียอดขายเข้ามาทันที ส่วนในช่วงที่เหลือของปี 2564 มีดีลที่อยู่ระหว่างศึกษา หากชัดเจนบริษัทจะดำเนินการแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป

ในการนี้ บริษัทได้ระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามูลค่า 3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ในแต่ละปีบริษัทมีภาระหนี้ที่ต้องชำระคืนประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีรีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิม ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดตราสารหนี้และอัตราดอกเบี้ยของตลาด โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทมีภาระหนี้อยู่ที่ 3.83 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงปลายปี 2563 เล็กน้อย ซึ่งกว่า 50% เป็นหนี้ที่อยู่ในรูปแบบหุ้นกู้ อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ที่ 1.2 เท่า และสัดส่วนหนี้สินต่อกำไรก่อนหักต้นทุน (D/EBITDA) ที่ 3.8 เท่า

เมื่อสอบถามถึงกรณีที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง นางกอบบุญ กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลบวกต่อธุรกิจของ CPF โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พบว่าการส่งออกเติบโตขึ้นกว่า 10% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าบริษัทมีต้นทุนการนำเข้าบางส่วนที่ถูกกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นถือว่าอยู่ในระดับที่เล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับผลดีจากการส่งออกที่เติบโตขึ้น