EIC ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังซบเซา จ่อปรับประมาณการจีดีพีในเดือนก.ย. อีกครั้ง

EIC ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังซบเซา จ่อปรับประมาณการจีดีพีในเดือนก.ย. อีกครั้ง

EIC มองตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 สอดคล้องกับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี64 จะเติบโตที่ 0.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่พึ่งพาการส่งออกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จับตาสถานการณ์ในปัจจุบัน และจะทบทวนประมาณการอีกครั้งช่วงก.ย.นี้

นายพนันดร อรุณีนิรมาน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส  Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในภาพรวม เศรษฐกิจไทยปี2564 จะเป็นอีกปีที่ซบเซาจากผลกระทบของการระบาดในประเทศเป็นสำคัญ แต่จะได้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีและมาตรการภาครัฐ โดยแม้การค้าโลกจะปรับชะลอลงบ้างในช่วงหลัง แต่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในส่วนของเศรษฐกิจในประเทศ คาดว่าจะซบเซาต่อเนื่องจากผลกระทบของการระบาดในประเทศรอบปัจจุบัน รวมถึงปัญหาแผลเป็นเศรษฐกิจ (economic scars) ที่มีแนวโน้มปรับแย่ลงเพิ่มเติม ได้แก่ การเปิดปิดกิจการที่อาจปรับแย่ลง ภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น และภาระหนี้ของภาคประชาชนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวในอนาคต อย่างไรก็ดี ยังมีมาตรการภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ ซึ่ง EIC คาดว่าภาครัฐจะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ทำให้ในภาพรวมจะใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทจนหมด และจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท อีก 2 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอีกหลายประการ โดยเฉพาะในส่วนของการระบาดในประเทศรอบปัจจุบันที่มีโอกาสปรับแย่มากกว่าคาด ทั้งในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อและระยะเวลาในการควบคุมโรค รวมถึงการฉีดวัคซีนที่อาจล่าช้าออกไปเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการปิดโรงงานหลายแห่งที่อาจกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออกได้ ขณะที่ความเสี่ยงด้านภาครัฐก็มีจากมาตรการพยุงเศรษฐกิจที่อาจออกน้อยกว่าที่คาด และความเสี่ยงสุดท้ายคือการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ที่อาจต้านทานวัคซีนได้ดีกว่าเดิม ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยสรุป ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ออกมา ยังคงสอดคล้องกับคาดการณ์ล่าสุดของ EIC ที่มองไว้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเติบโตที่ 0.9% ซึ่งในระหว่างนี้ EIC กำลังทำการวิเคราะห์โดยละเอียดจากสถานการณ์ในปัจจุบัน และจะมีการเผยแพร่ประมาณการอีกครั้งในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้

162917385735

สำหรับปัจจัยสำคัญ มีดังนี้ 

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2564 ขยายตัวที่ 7.5%YOY จากฐานต่ำในปีก่อนหน้าเป็นสำคัญ ขณะที่การเติบโตที่ 0.4%QOQ_sa สะท้อนว่าเศรษฐกิจค่อนข้างทรงตัวและมีแรงส่งค่อนข้างน้อย โดยเศรษฐกิจไทยมีความแตกต่างกันมากในแง่ของการฟื้นตัว (uneven) ระหว่างสาขาเศรษฐกิจ กล่าวคือ ภาคส่งออกสินค้าฟื้นตัวได้ดี ควบคู่ไปกับเม็ดเงินภาครัฐที่อัดฉีดเข้าสู่เศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชน (การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน) ในประเทศยังซบเซาและได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว โดยหดตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันจากผลของการระบาดระลอกที่ 3 และหากพิจารณาด้านการผลิต เศรษฐกิจไทยก็มีความแตกต่าง (uneven) เช่นกัน โดยภาคเกษตรฟื้นตัวได้ดีตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยขึ้น ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมฟื้นตัวตามภาคการส่งออกสินค้า แต่ภาคบริการยังหดตัวและเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

ในระยะต่อไป EIC คาดเศรษฐกิจไตรมาส 3/2021 จะยังทรุดตัวต่อเนื่องจากการระบาดที่ยืดเยื้อ รวมถึงผลของมาตรการล็อกดาวน์ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยหากพิจารณาข้อมูลดัชนีชี้วัดความเคลื่อนไหว (Mobility) ของทั้ง Google และ Facebook ให้ภาพตรงกันว่าผลกระทบของการระบาดได้ปรับแย่ลงเพิ่มเติม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสสูงที่จะปรับลดลงเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 3 ขณะที่หากสามารถควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนก็จะช่วยให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน และทำให้มาตรการล็อกดาวน์ผ่อนคลายลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้

ในภาพรวม ตัวเลข GDP ล่าสุดยังสอดคล้องกับการประมาณการของ EIC ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยปี2564จะขยายตัวในกรณีฐานที่ 0.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่พึ่งพาการส่งออกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ของภาครัฐเป็นสำคัญ ขณะที่การระบาดในประเทศอย่างต่อเนื่องได้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงทำให้ปัญหาแผลเป็นเศรษฐกิจด้านการเปิดปิดกิจการ ตลาดแรงงาน และภาระหนี้ ปรับแย่ลง จึงทำให้เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มซบเซาและฟื้นตัวช้า

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอีกหลายประการ โดยเฉพาะในส่วนของการระบาดในประเทศรอบปัจจุบันที่มีโอกาสปรับแย่มากกว่าคาด ทั้งในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อและระยะเวลาในการควบคุมโรค รวมถึงการฉีดวัคซีนที่อาจล่าช้าออกไปเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการปิดโรงงานหลายแห่งที่อาจกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออกได้ ขณะที่อาจมีความเสี่ยงภาครัฐจากเม็ดเงินมาตรการที่อาจออกมาน้อยกว่าคาด และความเสี่ยงสุดท้ายคือการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ที่อาจต้านทานวัคซีนได้ดีกว่าเดิม ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก