ผู้ว่าฯ ธปท.แนะกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน หนุนจีดีพีกลับมาโตใกล้ศักยภาพ

ผู้ว่าฯ ธปท.แนะกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน หนุนจีดีพีกลับมาโตใกล้ศักยภาพ

ธปท.หวั่นโควิดสร้างปัญหา "หลุมรายได้" แนะรัฐกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ช่วยจีดีพีกลับมาเติบโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น ชี้หากไม่กู้ ระยะยาวหนี้สาธารณะเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากกว่ากู้เงินตอนนี้

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.คาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงและลากยาวมากกว่าที่เคยประเมินเอาไว้ จะส่งผลให้เกิดปัญหา "หลุมรายได้" มูลค่าราว 2.6 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 2563-2565 ทั้งนี้ ด้วยขนาดของรายได้ที่จะหายไปคาดว่าเม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอีกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด

เบื้องต้นคาดว่าเม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของจีดีพี โดยการกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้จีดีพีกลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพีในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว

เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574) จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5% ดังนั้น หากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี แม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว 62.6% กรณีกู้เพิ่ม เทียบกับ 67.6% หากไม่กู้เพิ่ม

ขณะที่ความกังวลด้านเครดิตเรทติ้ง พบว่า ปัจจุบันฐานะการคลังของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงที่สุด โดยสถาบันจัดอันดับเครดิตต่างชี้ถึงปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า เป็นปัญหาที่น่ากังวลมากกว่าระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย

อย่างไรก็ดี การกู้เงินเพิ่มจะต้องมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อให้การคลังของประเทศกลับเข้าสู่สภาะที่เข้มแข็ง ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการขึ้นภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แม้ในภาวะปัจจุบันอาจไม่เหมาะสม แต่มองว่าเป็นสิ่งที่ในอนาคตไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ภายหลังประเทศไทยปรับลง VAT ต่อเนื่องจาก 10% มาอยู่ที่ระดับ 7% ตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินปี 2540 ซึ่งคาดว่าการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นจะหนุนรายได้ภาครัฐให้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท