TIDLOR ไตรมาส 2/64 ทำกำไรสุทธิแข็งแกร่ง 777 ล้านบาท พุ่งแรง 177%

TIDLOR ไตรมาส 2/64 ทำกำไรสุทธิแข็งแกร่ง 777 ล้านบาท พุ่งแรง 177%

"เงินติดล้อ" ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 ทำกำไรสุทธิแข็งแกร่ง 777 ล้านบาท พุ่งแรง 177% จาก ‘บัตรติดล้อ’ ผลตอบรับดี และรายได้ธุรกิจนายหน้าประกันภัยโตต่อเนื่อง วางเป้าหมายรักษาผู้นำตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันผ่านระบบดิจิทัล

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เปิดเผยว่า การดำเนินงานไตรมาส 2/2564 สามารถสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งรายได้และกำไรเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  แม้ภาพรวมเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 โดยบริษัทฯ มีรายได้ในไตรมาส 2/2564 รวม 2,918 ล้านบาท เติบโต 35% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 777 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดด 177% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  

ปัจจัยจากความสำเร็จมาจาก ‘บัตรติดล้อ’ นวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าให้เข้าถึงแหล่งเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถกดเงินสดตามวงเงินสินเชื่อทะเบียนรถที่ได้รับการอนุมัติผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำทั่วประเทศ ปัจจุบันได้ออกบัตรดังกล่าวแก่ลูกค้าแล้วกว่า 180,000 ราย ประกอบกับบริษัทฯ มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลรวมถึงขยายสาขาตามแผนงานที่วางไว้ โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีจำนวน 1,200 สาขา เพิ่มขึ้นจากเดิม 124 สาขา เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างประสิทธิภาพจากหลากหลายช่องทาง ทั้งออฟไลน์ ออฟไลน์และโมบายแอปพลิเคชัน ช่วยเพิ่มความสะดวกภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19   

ขณะเดียวกัน ยังได้รับผลดีจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่เพิ่มขึ้น 59.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันวินาศภัยจากธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโต 30.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดที่โดยปกติมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 3-4% ต่อปี

ทั้งนี้การเติบโตของรายได้ดังกล่าวของบริษัทฯเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของลูกค้าใหม่ผ่านเครือข่ายสาขาที่เติบโตขึ้น และการรักษาฐานลูกค้าต่ออายุประกันได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ (Cost to income) ปรับลดลง อัตรา NPL หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงอยู่ที่ 1.56% อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ Coverage ratio ยังคงอยู่ในระดับสูง 306% ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น โดยมีรายได้รวม 5,801 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,561 ล้านบาท เติบโต 15% และ 59% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ผลการดำเนินงานของเราในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ยังสามารถรักษาการเติบโตที่ดี โดยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบกับลูกค้าของเงินติดล้อ บริษัทฯ พร้อมมอบโอกาสการเข้าถึงทางการเงินอย่างเท่าเทียมแก่คนในสังคมเพื่อให้ชีวิตหมุนต่อได้  อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ การปิดให้บริการสาขาภายในห้างสรรพสินค้า รวมถึงการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนจาก COVID-19 อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อและนายหน้าประกันวินาศภัยของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ซึ่งเราประเมินว่าสถานการณ์น่าจะกลับมาดีขึ้นในปีหน้า หลังจากที่มีการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปรับตัวดีขึ้น” 

สำหรับแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลังของปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ตามแผนที่วางไว้ก่อนหน้านี้แม้มีความไม่แน่อน โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันในประเทศไทย จากการขยายเครือข่ายสาขาและการพัฒนาเทคโนโลยีและนำเสนอนวัตกรรมการให้บริการ พร้อมเดินหน้าทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์มธุรกิจนายหน้าประกันภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดในประเทศไทย นอกจากนี้บริษัทฯ มีสถานะทางธุรกิจและเงินทุนที่เข้มแข็ง สะท้อนจากการที่ทริสเรทติ้งได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรเฉพาะของบริษัทฯ อยู่ที่ระดับ “A” แสดงถึงมุมมองที่ดีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่เป็นผู้ประกอบการชั้นนำในตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี

ทั้งนี้ บริษัทฯ เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประการของรัฐ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จึงได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบและสนับสนุนนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการช่วยเหลือผู้ขอสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าที่ยังคงประกอบกิจการแต่มีรายได้ลดลงจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณีตามความเหมาะสม