OR ไตรมาส 2/64 กำไร 3,225 ล้านบาท โตมากกว่า 100% จากปีก่อน

OR ไตรมาส 2/64 กำไร 3,225 ล้านบาท โตมากกว่า 100% จากปีก่อน

OR โชว์ผลงานไตรมาส 2/64 กำไรสุทธิ 3,225 ล้านบาท ลดลง 19.4% จากไตรมาสก่อน แต่เติบโตมากกว่า 100% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุภาครัฐใช้มาตรการคุมโควิดในประเทศผ่อนคลายมากกว่ารอบแรก หนุนผลประกอบการธุรกิจน้ำมัน-นอนออยล์ดีขึ้น

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการ 118,708 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ระลอกใหม่ที่กลับมารุนแรงช่วงเดือน เม.ย.2564 ได้กดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ก็บรรเทาลงด้วยอุปสงค์โลกที่กำลังฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีน

สะท้อนให้เห็นถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ในไตรมาสนี้ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ในกลุ่มธุรกิจน้ำมันได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งจำกัดเฉพาะในบางจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น เป็นปัจจัยกดดันให้ปริมาณขายรวมลดลงเพียง 6.2% ในกือบทุกผลิตภัณฑ์ อาทิ เบนซิน ดีเซล LPG เป็นต้น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ Non-Oil ที่รายได้ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลง

อย่างไรก็ตามการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การออกกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางอื่นๆ อาทิ การนำกลับบ้าน (Take Away) บริการจัดส่ง (Delivery Service) รวมถึง Drive-Thru ทำให้ยอดขายไม่ลดลงมากนัก สำหรับรายได้กลุ่มธุรกิจต่างประเทศนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

EBITDA ในไตรมาส 2 ปี 2564 จำนวน 5,457 ล้านบาท ลดลง 953 ล้านบาท หรือลดลง 14.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มาจากกลุ่มธุรกิจน้ำมันและกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ที่มีผลการดำเนินงานอ่อนตัวลง จากปริมาณขายผลิตภัณฑ์น้ำมันและกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่ลดลงเล็กน้อย กลุ่มธุรกิจ Non-Oil ยังคงความแข็งแกร่งจากผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย EBITDA กลุ่มธุรกิจ Non-Oil เพิ่มขึ้น 4.2%

ทั้งนี้ ภาพรวมของค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลง 3.0% โดยหลัก คือ ค่าขนส่งตามปริมาณขายที่ลดลง ขณะที่มีค่าโฆษณาและส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น และประมาณการค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้การค้าลดลง ภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ จำนวน 3,225 ล้านบาท ลดลง 778 ล้านบาท หรือ 19.49% แต่เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.27 บาท ต่ำกว่าไตรมาสก่อน 0.11 บาท หรือ 28.9%

ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,228 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4,810 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ทั้งจากรายได้ขาย และ EBIDA ที่เพิ่มขึ้น 22,714 ล้านบาท หรือ 10.6% และ 5,126 ล้านบาท หรือ 76.0%) ตามลำดับ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ภาครัฐใช้มาตรการผ่อนคลายมากกว่า เมื่อเทียบกับรอบแรกในปี 2563 ที่มีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศไทย ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจน้ำมันและกลุ่มธุรกิจ Non-oil ดีขึ้น

แม้ว่ากลุ่มธุรกิจต่างประเทศจะถูกกดดันจากความรุนแรงเพิ่มขึ้นของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในต่างประเทศ ที่ส่งผลให้ผลการดำเนินลดลง โดยหลักในกัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ รายการขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ลดลง 1,108 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงผลิตภัณฑ์น้ำมันจำนวนสูงโดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานจากผลกระทบของโควิด-19 อีกทั้งประมาณการค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้ลดลง เนื่องจากในเดือน พ.ค.2563 ได้ตั้งประมาณการดังกล่าวของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ จำกัด ที่ได้ยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

ฐานะทางการเงิน ณ 30 มิ.ย.2564 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 199,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54,578 ล้านบาท หรือ 37.6% จากสิ้นปี 2563 โดยหลักมาจากงินสดสุทธิที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 53,497 ล้านบาท บริษัทฯ มีหนี้สินรวมจำนวน 101,599 ล้านบาท ลดลง 5,464 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการจ่ายคืนเงินกู้ สำหรับส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 97,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60,042 ล้านบาท จากการเพิ่มทุนของบริษัทฯ จากการ IPO ดังกล่าวข้างต้น และกำไรสุทธิในงวดครึ่งปีแรกของปี 2564 จำนวน 7,228 ล้านบาท