BPP ไตรมาส 2/64 กำไร 1,126 ล้านบาท รับเดินเครื่องโรงไฟฟ้า Nakoso

BPP ไตรมาส 2/64 กำไร 1,126 ล้านบาท รับเดินเครื่องโรงไฟฟ้า Nakoso

BPP รายงานกำไรไตรมาส 2/64 ที่ 1,126 ล้านบาท รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 93 ล้านบาท โดยหลักมาจากโรงไฟฟ้า HPC ที่เดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง-เปิด COD โรงไฟฟ้า Nakoso ประเทศญี่ปุ่น

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 ว่า บ้านปู เพาเวอร์ รายงานผลกำไรสุทธิในในตรมาส 2 ปี 2564 จำนวน 1,126 ล้านบาท (รวมผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 93 ล้านบาทแล้ว) เพิ่มขึ้น 66% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 1,171 ล้านบาท

ส่วนหลักมาจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า HPC ที่สามารถเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้าฯ (EGAT) ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงในช่วงฤดูร้อน กอปรกับความสำเร็จในการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ นั่นคือโรงไฟฟ้า Nakoso ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีผสมผสานในการแปลงสถานะถ่านหินให้กลายเป็นก๊าซเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรายงานส่วนแบ่งกำไรครั้งแรกในไตรมาส 2 นี้

บริษัทฯ รายงานรายได้รวมจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม หรือ CHPs ทั้ง 3 แห่งในประเทศจีน จำนวน 861 ล้านบาท ลดลง 19% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศจีนจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับมาได้แต่ยังคงเป็นไปแบบชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่กลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้งจากสายพันธุ์ใหม่ในช่วงที่ผ่านมา จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ รวมถึงในประเทศจีนเอง สะท้อนถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่ชะลอตัวลงจากลูกค้าบางกลุ่ม

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากต้นทุนถ่านหินที่อยู่ในระดับสูงจากปัญหาการผลิตถ่านหินในประเทศที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ราคาต้นทุนถ่านหินเฉลี่ยในไตรมาสนี้จึงมีราคาสูงถึง 733 หยวนต่อตัน เมื่อเทียบกับ 540 หยวนต่อตันในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการลดต้นทุนอย่างเข้มงวด และบริหารการดำเนินงานอย่างรัดกุมโดยเฉพาะการจัดตารางการซ่อมบำรุง และการปรับโหมดการเดินเครื่อง (Operation Mode) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อคงความสามารถในการดำเนินงานในช่วงเวลาที่มีความผันผวน

ในไตรมาสนี้ บริษัทฯ ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมค้าจำนวน 1,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยส่วนหลักมาจากโรงไฟฟ้า HPC โดยทั้ง 3 หน่วยการผลิต สามารถเดินเครื่องเต็มกำลังได้อย่างมีประสิทธภาพและต่อเนื่องอันเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการเดินเครื่องอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในระยะยาว ซึ่งได้มีดำเนินการไปเมื่อปีที่ผ่านมา สะท้อนผ่านค่าความพร้อมจ่ายหรือ EAF ในอัตราที่สูงถึง 92% โรงไฟฟ้า HPC จึงรายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 1,112 ล้านบาท ซึ่งได้รวมผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงแล้วจำนวน 79 ล้านบาท

ในขณะที่โรงไฟฟ้า BLCP มีการหยุดซ่อมบำรุงจากเหตุการณ์ท่อรั่ว (Tube Leak) แต่ยังคงสามารถรายงาน EAF ที่อัตรา 87% รายงานส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 187 ล้านบาท ซึ่งหากรวมรายการภาษีงินได้รอตัดบัญชีจำนวน 68 ล้านบาท และผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจำนวน 41 ล้านบาท โรงไฟฟ้า BLCP จึงรายงานส่วนแบ่งกำไรสุทธิจำนวน 78 ล้านบาท

ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานภายใต้ Banpu NEXT รายงานส่วนแบ่งขาดทุนที่ลดลงจำนวน 20 ล้านบาท อันเป็นผลจากการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างดีจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีนและญี่ปุ่น จากสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยและความเข้มของแสงแดดที่ดีในช่วงฤดูร้อน

ในขณะที่โรงไฟฟ้า SLG รายงานส่วนแบ่งขาดทุนที่ 42 ล้านบาทเป็นผลจากการรับรู้คำใช้จ่ายในช่วงการทดสอบการเดินเครื่องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ซึ่งคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้า Nakoso ได้รายงนส่วนแบ่งกำไรจำนวน 47 ล้านบาท หลังจากเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งนานาประเทศต่างต้องเผชิญกับความยุ่งยากและท้าทายอย่างมาก บริษัทฯ ยังคงดำเนินงานด้วยความรัดกุม เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานเป็นสำคัญ ตลอดจนความสามารถในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทุกๆ แห่งให้สามารถเดินเครื่องได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ตอบสนองต่อความต้องการให้กับชุมชนและสังคมในช่วงเวลาวิกฤตินี้

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้ามองหาโอกาสการลงทุนเพื่อการเติบโตบนความระมัดระวังในการบริหารจัดการงบการลงทุนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเดิบโตได้ตามแผน โดยให้ความสำคัญต่อการลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในขณะเดียวกัน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผนวกกำลังหรือ Synergy ระหว่างกลุ่มบ้านปู เช่น การลงทุนในโรงฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งรวมกำลังการผลิต 167 เมกกะวัตต์ ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเพิ่มกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนจำนวน 17 เมกะวัตต์ (เป็นสัดส่วนทางอ้อม 10%) สะท้อนความมุ่งมั่นในการสร้างความเติบโต ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิต 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568