‘เงินบาท’ วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ ที่32.16บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ ที่32.16บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทมีโอกาสผันผวนและยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากทั้งแรงกดดันฝั่งดอลลาร์อ่อนค่าและฟันด์โฟลด์ต่างชาติ จากปัญหาการระบาด โควิด-19 เลวร้ายลงในยุโรปหรือเอเชีย ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ คาดวันนี้เงินบาทที่ระดับ 32.10-32.25บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.16 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 32.19 บาทต่อดอลลาร์

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.10-32.25 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ32.00-32.50 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนและมีโอกาสเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง

โดยในส่วนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่านั้นอาจมาจากทั้ง เงินดอลลาร์ และ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ

โดยเรามองว่า เงินดอลลาร์พร้อมกลับมาแข็งค่าต่อ จากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 เลวร้ายลงในยุโรปหรือเอเชีย ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ  หรือ ตลาดกังวลปัญหาการระบาดทั่วโลกจนกลับมาปิดรับความเสี่ยง ก็จะเป็นปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย

ขณะเดียวกัน ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ปัญหาการระบาดในไทย ก็จะยิ่งกระตุ้นแรงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ จนกว่าการแจกจ่ายวัคซีนจะเร่งตัวขึ้นได้ดีขึ้น(อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดสขึ้นไป หากต้องการให้ถึงเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกัน 50% ของประชากรภายในปีนี้)

อย่างไรก็ดี แนวต้านสำคัญยังอยู่ในโซน 32.25-32.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้อาจอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์

ดังนั้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น ต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) ที่ระดับ 63.5 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงการขยายตัว) ขณะเดียวกัน การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ก็ส่งผลให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง ทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOTLS Job Openings) พุ่งขึ้น สู่ระดับ 9.3 ล้านตำแหน่ง นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะติดตาม รายงานผลการประชุมเฟดเดือนมิถุนายน โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับการลดคิวอี (QE Tapering) รวมถึงแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ว่า เฟดจะใช้ข้อมูลใดเป็นหลักในการช่วยตัดสินใจ รวมถึง แผนการลดคิวอีและแนวทางการสื่อสารกับตลาดการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ ตลาดจะติดตาม แนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ มากขึ้น หลังมีการพบการระบาดสายพันธุ์ Epsilon ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็ว และยังต้านทานวัคซีน mRNA ได้

ทางด้านฝั่งยุโรปแม้ว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังสดใส จากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน รวมถึงการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) เดือนมิถุนายน ที่ยังอยู่ในระดับ 58 จุด และ 61.7 จุด สำหรับอังกฤษ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) แต่ต้องระวังและติดตามแนวโน้มการระบาดของ โควิด-19 สายพันธุ์ Delta และ การเร่งแจกจ่ายวัคซีน ว่าจะสามารถควบคุมปัญหาการระบาดได้หรือไม่ เพราะหากการระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้รัฐบาลของหลายประเทศต้องใช้นโยบายควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น กดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ในระยะสั้น

ทั้งนี้ เรามองว่า ประเทศในโซนยุโรป รวมถึงอังกฤษ อาจเผชิญปัญหาการระบาดไม่นาน เพราะประชากรเกิน 50% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพทำให้หากเร่งแจกจ่ายวัคซีนให้เร็วขึ้นและเร่งการตรวจโรค ก็จะสามารถคุมการระบาดได้เร็ว กว่าประเทศในฝั่งเอเชียหรือ อเมริกาใต้ ที่ยังแจกจ่ายวัคซีนได้ไม่ดี และวัคซีนที่แจกไปเยอะแล้วนั้น ก็ประสิทธิภาพต่ำในการรับมือ Delta อนึ่งปัญหาการระบาดของโควิด-19 ล่าสุด อาจกดดันให้ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Sentiment) เดือนกรกฎาคม จะปรับตัวลดลง สู่ระดับ 27 จุด ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนกรกฎาคม จะปรับตัวลดลง สู่ระดับ 76 จุด เช่นกัน

ส่วนในฝั่งเอเชียเศรษฐกิจในหลายประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงได้ ซึ่งระยะเวลาที่เศรษฐกิจจะซบเซาลงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแผนการรับมือการระบาดของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ดี เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เรามองว่า บรรดาธนาคารกลางในฝั่งเอเชียจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(Cash Rate) ไว้ที่ระดับ 0.10% พร้อมทั้งควบคุมยีลด์เคิร์ฟ (Yields Curve Control) โดยคงเป้าหมายบอนด์ยีลด์ 3 ปี ไว้ที่ระดับ  0.10% ส่วนในฝั่งธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ก็มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight Rate) ไว้ที่ระดับ 1.75% หลังมาเลเซียเจอการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรง

และในฝั่งไทยปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่กดดันให้เศรษฐกิจกลับมาซบเซาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายจากภาครัฐ (ลดค่าน้ำ ค่าไฟ) จะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน ชะลอตัวลงสู่ระดับ1.20% จาก 2.44% ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ควรติดตามสถานการณ์การระบาดโควิด-19 และแผนการแจกจ่ายวัคซีนอย่างใกล้ชิด