'คมนาคม' กางแผนดึงเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1.1 แสนล้าน ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19

'คมนาคม' กางแผนดึงเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1.1 แสนล้าน ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19

“ศักดิ์สยาม” เปิดแผนลงทุนปี 2565 ดึงเม็ดเงินพีพีพี - กองทุนฟิวเจอร์ฟันด์ - แหล่งเงินกู้ หนุนงบประมาณภาครัฐ เข็นเศรษฐกิจมากกว่า 1.1 แสนล้าน ดันไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน ประเดิม 4 เส้นทางมอเตอร์เวย์ ชูแลนด์บริดจ์ ประตูเชื่อมอีอีซี - การค้าโลก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ  ‘Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน’ โดยระบุว่า ปีนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.5 – 3.5% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว มีวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างไรก็ดี การกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ภาครัฐถือเป็นส่วนสำคัญต้องร่วมกับเอกชนและธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐ เพราะหลายเครื่องจักรในขณะนี้ยังชะลอตัว

กระทรวงคมนาคม มีส่วนสำคัญต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในปีงบประมาณ 2564 ได้รับงบจัดสรร 1.8 แสนล้าน และในปี 2565 ได้รับ 1.1 แสนล้าน ซึ่งขณะนี้งบประมาณปี 2564 กระทรวงฯ เร่งเบิกจ่ายไปแล้ว 50% หรือราว 9 หมื่นกว่าล้าน และในปี 2565 ตามงบประมาณที่จัดสรรลดลง กระทรวงฯ แต่ต้องเรียนว่าไม่ต้องวิตกกับเรื่องนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายว่า ภาวะโควิด-19 เราต้องดูการลงทุนภาครัฐจากแหล่งงบประมาณอื่นๆ

อย่างไรก็ดี การจัดหางบประมาณลงทุนจากแหล่งเงินทุนอื่นนั้น กระทรวงฯ ได้พิจารณาพบว่าวิธีการที่จะได้รับการลงทุน เช่น การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐ (พีพีพี) การระดมทุนจากกองทุนฟิวเจอร์ฟันด์ และแหล่งเงินกู้จากสำนักงานบริหารหนี้ ซึ่งวิธีการจัดหาแหล่งเงินทุนเหล่าทั้ง 3 แหล่งนี้ จะมาเติมเต็มงบประมาณที่ลดลงในปี 2565 ทำให้เกิดการลงทุนจากโครงการภาครัฐมากกว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรร 1.1 แสนล้านบาท

162442184378

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวด้วยว่า ไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน เป้าหมายของกระทรวงฯ จึงต้องการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทุกโหมด ให้สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการเดินทางของอาเซียน ดังนั้นเราต้องพร้อมทั้งบก ราง อากาศ และทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันทางน้ำไทยมีความพร้อมทางทะเล ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เหลือสร้างเชื่อมต่อการเดินทางจากมหาสมุทรอินเดียมาอ่าวไทย

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ทำการศึกษาพบว่า เทคโนโลยีพัฒนาไปมาก การเดินทางไม่จำเป็นต้องทำคลอง เพราะการทำคลองใช้เงินลงทุนมหาศาล ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงฯ จึงได้มีการศึกษาสามารถเชื่อมต่อได้ผ่านแลนด์บริดจ์ โดยแต่ละฝั่งทะเลจะมีท่าเรือน้ำลึก และเชื่อมต่อผ่าน MR – Map หรือการเชื่อมต่อด้วยโครงข่ายทางถนนมอเตอร์เวย์ และรถไฟ เลือกใช้เส้นทางที่มีระยะสั้นสุด เพื่อผลักดันให้อนาคตจะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ของูมิภาคอาเซียน จากเดิมที่ต้องใช้ช่องแคบมะละกา สำหรับการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบศึกษาโครงการแล้ว ปีหน้าจะได้เห็นภาพรวมของแลนด์บริดจ์ว่าจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ต้องพิจารณาด้วยว่า แผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ที่สร้างจะเป็นตัวสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะเสร็จในปี 2568 อย่างไร จากที่ขณะนี้เรากำลังพัฒนาสนามบิน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง และโครงการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อจากศรีนครินทร์ ดังนั้นแลนด์บริดจ์จะเป็นเสมือนประตูของอีอีซี สนับสนุนในการเดินทางทะลุไปมหาสมุทรอินเดีย เชื่อมการขนส่งสินค้า และการค้าระหว่างอีอีซีไปทั่วโลกได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการเริ่มต้นศึกษาแลนด์บริดจ์ ทำให้กระทรวงฯ ได้เกิดแนวคิดในการพัฒนาทางเลือกการเดินทาง MR-Map บูรณาการรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ ให้เป็นเส้นทางบูรณาการร่วมกัน ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยโครงการนี้จะตอบโจทย์ศูนย์กลางการเดินทางทั้งทางบก และทางราง เป็นการวางพื้นฐานให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางอาเซียน

162442182229

นายศักดิ์สยาม เผยด้วยว่า โครงการที่จะสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน โครงข่ายทางบก ลำดับความสำคัญที่สุด คือ 1.การพัฒนาเส้นทางแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนี้ทูตและนักลงทุนหลายประเทศเข้ามาสอบถามเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่ามีคนสนใจมาก กระทรวงฯ ย้ำเสมอว่าในที่สุดการลงทุนเหล่นี้ ก็จะเป็นการเปิดพีพีพี เปิดในรูปแบบการลงทุนนานาชาติ

2.โครงข่ายมอเตอร์เวย์ เส้นทางนครราชสีมา – อุบลราชธานี 3. หนองคาย- แหลมฉบัง และ 4. วงแหวนรอบ 3 กรุงเทพมหานคร ทั้งหมดนี้คาดว่าในปี 2565 จะเห็นรูปแบบที่ชัดเจนของเส้นทางเหล่านี้ และประเมินงบประมาณการลงทุน โดยกระทรวงฯ เน้นย้ำยึดหลักดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมาย

อีกทั้งการพัฒนาระบบราง เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์  โจทย์สำคัญขณะนี้มี 3 เรื่อง คือ 1.รถไฟจะต้องเป็นรางคู่ มีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นทุกปี โดยตามแผนทั่วประเทศต้องเป็นรถไฟรางคู่ เพื่อสนับสนุนเอาโลจิสติกส์ไปขนส่งทางราง 30% นอกจากนี้ การลงทุนของ ร.ฟ.ท.เนื่องจากปัจจุบันสถานะทางการเงินมีปัญหา กระทรวงฯ จึงจัดตั้งบริหารสินทรัพย์ ร.ฟ.ท. ซึ่งเชื่อว่าการบริหารสินทรัพย์ต่อจากนี้จะมีประสิทธิภาพ นำเม็ดเงินเข้าองค์กรอย่างต่อเนื่อง และอีก 10 ปี ร.ฟ.ท.จะไม่มีหนี้

2.การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมี 14 เส้นทางที่เปิดให้บริการและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตามแผนทุกเส้นทางจะแล้วเสร็จในปี 2570 ทำให้ทั่วกรุงเทพฯ มีระยะทาง 554 กิโลเมตร ตอบโจทย์การเดินทาง เชื่อมกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง สนับสนุนการเดินทางรอบกรุงเทพฯ จากเส้นทางที่เป็นวงกลม และกำลังจะมีสายสีแดง และเราจะขยายรถไฟรางเบาในต่างจังหวัดด้วย

ส่วนที่ 3 ปัจจุบันระบบรางยังมีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) 2 เส้นทาง คือ รถไฟไทย - จีน และรถไฟเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ดังนั้น จะเห็นได้ว่าระบบรางจะกลายเป็นโลจิสติกส์สำคัญของประเทศในอนาคต