‘อังกฤษ’ ย้ำเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลก ไม่เพิ่มเกิน 1.5 องศา

‘อังกฤษ’ ย้ำเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลก ไม่เพิ่มเกิน 1.5 องศา

"อังกฤษ" ตอกย้ำเป้าหมายการประชุม COP26 จำกัดอุณหภูมิโลก ต้องไม่เพิ่มเกิน 1.5 องศา และลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินในอนาคต

นายอล็อก ชาร์มา ว่าที่ประธานการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งอังกฤษ เป็นเจ้าภาพ กล่าวว่า ในปีนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของโลกที่จะสร้างอนาคตที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

"อังกฤษจะทำให้มั่นใจได้ว่า ตลอดช่วงเวลาสองสัปดาห์ของการประชุมนี้ทุกประเทศและทุกภาคส่วนของสังคมจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการปกป้องโลกของเรา" นายชาร์มากล่าว ในการแถลงครั้งใหญ่นอกเมืองกลาสโกว์ ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดการประชุม COP26 ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

การประชุม COP26 จะนำผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศจาก 196 ประเทศและสหภาพยุโรป รวมทั้งตัวแทนภาคธุรกิจ องค์กร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้นำโลกมารวมตัวกันที่ศูนย์การประชุม Scottish Event Campus (SEC) เมืองกลาสโกว์ ระหว่างวันที่ 1 - 12 พฤศจิกายนนี้

เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ณ การประชุม COP21 ทั่วโลกเห็นชอบกับความตกลงปารีสและตกลงที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในการประชุม  COP26ในปีนี้ ทุกประเทศจะให้คำมั่นที่จะดำเนินการเพื่อให้เป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิดังกล่าวเป็นไปตามที่ตั้งไว้

“นี่คือความหวังสุดท้ายของเราที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะสร้างอนาคตที่สดใสกว่า อนาคตแห่งงานสีเขียวและอากาศที่สะอาดยิ่งขึ้น” ชาร์มากล่าว และเชื่อมั่นว่า ผู้นำโลกจะลุกขึ้นคว้าโอกาสนี้และไม่ปล่อยให้คำสัญญากับธรรมชาติของเราหลุดลอยไป 

อีก 6 เดือนจากนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม จะสามารถพูดได้ว่าเราทุกคนได้แสดงความรับผิดชอบในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ว่าเราได้เลือกที่จะลงมือและเราได้รักษาอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าที่ตั้งไว้

ในการแถลงนี้นายชาร์มายังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการยุติการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลงถ่านหินและเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ จากการใช้พลังงานหมุนเวียน

“เพราะเราจริงจังกับการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส การประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ จะต้องทำให้ถ่านหินกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ เรากำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลต่าง ๆ ทั้งโดยตรงและผ่านองค์กรระหว่างประเทศเพื่อยุติการให้เงินสนับสนุนธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานเชื้อเพลิงถ่านหิน นี่เป็นเรื่องที่ส่วนตัวผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และเพื่อเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ ยุติการใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินโดยมีกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7)เป็นตัวอย่าง ในขณะเดียวกันเราก็ทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อช่วยเหลือด้านการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาด

ยุคที่ถ่านหินเป็นพลังงานเชื้อเพลิงประเภทที่ถูกที่สุดกลายเป็นอดีตไปแล้ว และควรจะต้องเป็นอดีตต่อไป ดังที่เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวไว้ว่าธุรกิจถ่านหินกำลังมอดไหม้เป็นควัน เป็นเทคโนโลยีเก่า ดังนั้น ร่วมกันทำให้การประชุม COP26 เป็นช่วงเวลาที่เราทิ้งถ่านหินไว้ในอดีตดังที่ควรเป็น ในขณะที่สนับสนุนแรงงานและชุมชนต่าง ๆ ให้เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดไปด้วยกัน สร้างงานสีเขียวมาเติมเต็มตลาดแรงงานที่หายไป

อังกฤษเป็นผู้นำในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ในปี 2555 ตั้งเป้า 40%  ของไฟฟ้าของเรามาจากพลังงานเชื้อเพลิงถ่านหิน ตอนนี้ตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงเหลือน้อยกว่า 2% นี่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้ 

อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 78% ภายในปี 2578 เราจะเลิกการใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2567 และจะเลิกจำหน่ายรถใหม่ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในปี 2573 การดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรต่อแวดล้อมและความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจนั้นสามารถเกิดขึ้นไปได้พร้อม ๆ กัน ตลอดช่วง 30 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 78% ในขณะที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 44%