TDRI มอง 'ประยุทธ์' 7 ปี จัดงบขาดดุลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

TDRI มอง 'ประยุทธ์' 7 ปี จัดงบขาดดุลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

‘’ทีดีอาร์ไอ"มองผลงานเศรษฐกิจ 7 ปี ขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง เหตุใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นช่วยคนจน ห่วงนโยบายระยะยาวยังไม่เป็นรูปธรรม แนะ 2 แนวทางแก้เหลื่อมล้ำ

นายนณริฏ พิศลยบุตรนักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2557-2563) เมื่อพิจารณาจากดุลการคลังรอบ 7 ปี ที่ผ่านมา ใช้นโยบายการขาดดุลงบประมาณตลอด เพราะรัฐบาลมีรายจ่ายเกินรายได้และมีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น คือ ตั้งแต่ปี 2557-2559 ขาดดุลงบประมาณ 3-4 แสนล้านบาท มาถึงปี 2560-2562 ขาดดุลเพิ่มมาเป็นเกือบ 5 แสนล้านบาทต่อปีโดยเฉลี่ย

การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลนอกจากงบประมาณประจำ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 

1.เงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 

2.เงินลงทุนเพื่อเศรษฐกิจระยะยาว

โดยส่วนแรกเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแบบปีต่อปี พบว่า รูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงจากแนวทางพรรคเพื่อไทยที่เน้นกลุ่มเกษตรกรมาเป็นแนวประชารัฐที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มคนที่หลากหลายกว่า 

ทั้งนี้ นัยต่อสังคมอาจไม่เทียบได้ว่ารูปแบบไหนดีกว่า เพราะการเน้นที่เกษตรกรมีปัญหาการจัดการและเกษตรกรบางคนไม่ยากจน ในขณะที่การช่วยเหลือในวงกว้างผ่านโครงการ เช่น ชิม ช็อป ใช้ หรือ ช็อปช่วยชาติ มีความน่ากังวลว่าธุรกิจรายใหญ่และคนที่มีฐานะที่ไม่ควรได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐก็ได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งทำให้เกิดการท้วงติงหลายครั้งว่านโยบายการเศรษฐกิจบางช่วงไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับมาตรการทางสังคมที่รัฐบาลนี้ทำได้ดี คือ การออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ทำให้ภาครัฐช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนได้ตรงเป้ามากขึ้น แม้ในภาคปฏิบัติยังต้องปรับปรุงวิธีการดำเนินงานพอสมควร แต่เป็นแนวทางใหม่ที่ช่วยเหลือคนจนในไทยได้มากและนโยบายลักษณะนี้ตรงกลุ่มกว่าการหว่านเม็ดเงินลงให้ทุกกลุ่ม

ส่วนมาตรการระยะยาวของรัฐบาลนี้ ยังคงต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างมาก เพราะยังประสบความสำเร็จในระดับที่จำกัด ตั้งแต่แผนการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน หรือ Special economic zone ระหว่างไทยกับประเทศที่มีพรมแดนติดกันที่ไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เจอปัญหาโควิด สิ่งที่เกิดขึ้นและประชาชนมองเห็นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหารัฐบาลที่ไม่เป็นเอกภาพในการจัดการ ซึ่งต้องอาศัยการสอดประสานระหว่าง มาตรการด้านสาธารณสุข (การควบคุมการแพร่ระบาด การจัดหาและการฉีดวัคซีน) มาตรการด้านเศรษฐกิจเพื่อประคองให้เศรษฐกิจและประชาชนอยู่รอด 

แนะ2แนวทางแก้เหลื่อมล้ำ

สำหรับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องทำ 2 แนวทางควบคู่กัน คือ

1.การช่วยเหลือคนฐานล่างให้เข้มแข็งขึ้น

2.การลดความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรมในส่วนบนให้ลดลง

ทั้งนี้รัฐบาลนี้แก้ไขในส่วนฐานล่างได้อย่างจำกัดและไม่ยั่งยืน คือ เน้นการแจกเงินช่วยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากับการทำให้คนฐานล่างยืนและพัฒนาได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ การปฏิรูปการศึกษาเห็นกรณีที่พยายามสร้างเขตเศรษฐกิจการศึกษาเพื่อทดลองหาแนวทางการพัฒนา แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในวงกว้างหรือไม่

สำหรับการปฏิรูปจากส่วนบน ภาครัฐมีการออกภาษีที่ดิน ภาษีมรดกที่เป็นเครื่องที่ดี แต่ในแง่ปฏิบัติยังมีช่องโหว่ให้หลีกเลี่ยงภาษีได้ไม่ยาก เช่น การทำเกษตรในพื้นที่ใจกลางเมือง

นอกจากนี้ ภาครัฐยังไม่สามารถควบคุมให้ธุรกิจหลายประเภทมีอำนาจผูกขาด ทำให้เกิดการใช้อำนาจตลาดสร้างความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น และยังไม่สามารถพัฒนาการแข่งขันที่โปร่งใส และเป็นธรรมในการได้รับสัมปทานจากภาครัฐ ทำให้เกิดการแสวงหาค่าเช่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำอีกด้วย