เช็คประวัติ 'อาการโควิด-19' แบบไหน ต้องรีบไปตรวจหาเชื้อ?

เช็คประวัติ 'อาการโควิด-19' แบบไหน ต้องรีบไปตรวจหาเชื้อ?

ตอบคำถาม "อาการโควิด-19" แบบไหน ต้องรีบไปตรวจหาเชื้อ? โดย สธ.คาดราว 1 เดือน ผู้ติดโควิด19 อาจลดจากหลักพันหลือหลักสิบต่อวัน ทุกคนต้องร่วมมือ "อยู่บ้านหยุดเชื้อลดเคลื่อนย้าย" ย้ำแอบถ่ายรูปผู้ป่วยในรพ.สนาม มีความผิด เข้าข่ายละเมิดผู้ป่วย

เวลา 15.00 น. วันที่ 17 เม.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการติดเชื้อ "โควิด-19" คือการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ลดการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น โดยยกการ์ดสูงตลอดเวลา มีพฤติกรรมสุขภาพดี ทั้งการเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก ไม่ไปสถานที่แออัดหรือสถานที่เสี่ยง คาดว่าใน 1 เดือนข้างหน้าจะเห็นผู้ป่วยลดลง ในอัตราจาก 100 คนจะเหลือ 4 คน ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือที่เข้มข้นจากทุกคน ตอนนี้ผู้ติดเชื้อที่พบรายวันประมาณ 1,000 คน ก็อาจจะลดเหลือ 40-80 คน ทิศทางก็น่าจะดีขึ้น

การไป "ตรวจหาเชื้อโควิด-19" นั้น ขอแบ่งเป็นกลุ่ม ดังนี้

1. ไม่มีอาการและไม่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรือไปสถานที่เสี่ยง ไม่ต้องมาตรวจ โดยดูแลตัวเองตามปกติใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง 

2. ไม่มีอาการ แต่ไปสัมผัสผู้ติดเชื้อหรือไปสถานที่เสี่ยงมา ยังไม่ต้องไปตรวจ แต่ให้กักตัวแยกตัวเอง 14 วัน แล้วสังเกตอาการ หากมีอาการค่อยไปตรวจ 

3. มีอาการ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก แต่ไม่มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อหรือไปสถานที่เสี่ยง ขอให้ดูแลสุขภาพสังเกตอาการไปก่อน เนื่องจากอาจเป็นโรคอื่นได้ หรือมีข้อสงสัยให้โทร. 1422 

4. มีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก มีอาการทางเดินหายใจ ร่วมกับมีประวัติสัมผัสคนติดเชื้อ ไปสถานที่เสี่ยง ให้แยกตัวเองใส่หน้ากากและเดินทางไปตรวจหาเชื้อทันที โดยห้ามเดินทางด้วยรถสาธารณะ 

5. มีอาการเหนื่อยหอบ ให้รีบไปตรวจทันที  และ

6. กลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวหากมีอาการทางเดินหายใจ ให้รีบไปตรวจด้วยเช่นกัน เนื่องจากเสี่ยงมีอาการรุนแรง

  • "อยู่บ้าน" รอผลตรวจ กักตัว สังเกตอาการ ต้องทำอย่างไร?

สำหรับคนที่อยู่บ้าน ทั้งคนรอผลตรวจ หรือถูกกักตัวแม้ผลตรวจเป็นลบ สิ่งที่ต้องทำ คือ

1. อย่าออกจากบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงที่กักตัวและรอผลตรวจ ไม่ไปโรงเรียน ไม่ไปทำงาน และอย่าเพิ่งให้ใครมาเยี่ยม

2. เว้นระยะห่างจากคนอื่นในบ้าน 1-2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

3. แยกห้องนอน ไม่ใช้ของร่วมกัน แยกห้องน้ำหากแยกได้ หากมีห้องเดียวผู้แยกตัวกักตัว ต้องเข้าเป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดหลังใช้

4. ไม่ล้อมวงกินอาหาร แยกสำรับ

5. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์ เพราะสารคัดหลั่งอาจติดไปกับขน เอาไปติดคนอื่นได้ 

6. การสั่งอาหารออนไลน์ ให้เว้นระยะห่างและลดการสัมผัส ด้วยการวางของเอาไว้ให้หยิบเอง และใช้การโอนเงิน

7. การทำความสะอาดบ้านดูแลสิ่งแวดล้อม เชื้อไวรัสโควิดตายง่าย ใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ฆ่าเชื้อถือว่าเพียงพอ และ

8. หากอยู่บ้านมีความเครียด ไม่สบายใจ มีภาวะทางจิตใจ เวลาว่างตอนนี้ ให้ข้อแนะนำ ออกกำลังกายในพื้นที่ของเรา อ่านหนังสือ หรือพักผ่อนให้เพียงพอ



"ขอให้ปฏิบัติให้ครบ 14 วัน หากครบแล้วจากนี้ก็ดูแลตัวเองให้ดี ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ตามวิถีชีวิตใหม่ แต่ระหว่างนี้หากมีอาการไม่สบาย ให้แจ้งมาที่สายด่วน 1669 1330 หรือ 1668 ว่ามีอาการไม่สบาย จะมีการให้คำแนะนำ หรือหากผลเป็นบวกแล้วให้ประสานเข้ามาที่เบอร์ดังกล่าว การไป รพ.ต้องสวมหน้ากาก ไม่ควรเดินทางด้วยรถสาธารณะ โดยระบบจะมีเจ้าหน้าที่ รถพยาบาลมาดูแล" นพ.รุ่งเรืองกล่าว

นพ.ร่งเรือง กล่าวถึงกรณี "ทหารกองบิน 41 เชียงใหม่" ติดโควิดกักตัวในบ้านพักที่กองบิน เนื่องจาก รพ.เตียงไม่พอ ว่า การพบว่าติดเชื้อแล้วแยกตัวเองถือว่าถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ในพื้นที่กำลังประสานเพื่อนำเข้าสู่ระบบ รพ. หรือ รพ.สนาม เพื่อป้องกันการแพร่โรคออกไป โดยที่จะเข้าไปผู้อยู่ รพ.สนาม มักไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย และมีระบบดูแลส่งต่อ หากมีอาการหรือความเสี่ยงมีอาการรุนแรง ทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างดี

"ถือว่าทำตัวถูกแล้วที่ขณะนี้กักตัวแยกตัวอยู่ เจ้าหน้าที่กำลังพาเข้าสู่ระบบ หลายคนอาจรอเตียงที่บ้านหลังผลตรวจเป็นบวก ก็สอบถามเข้ามา ที่สำคัญคือขณะนี้ระบบกำลังเดินประสานเข้าไปดูแล ขอให้แยกตัว เว้นระยะห่าง ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน แยกวงทานอาหาร หากมีอาการเพิ่มขึ้น ให้โทร.แจ้งกลับเข้ามา" นพ.รุ่งเรืองกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีมีผู้ติดเชื้อโควิดชายในรพ.สนามแอบถ่ายภาพผู้ติดเชื้อหญิง และโพสต์ข้อความส่อไปในทางที่เป็นการคุกคามทางเพศ ทางกระทรวงจะมีมาตรการอย่างไร นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า เรื่องนี้สธ.ทราบแล้วได้สั่งการให้มีการเข้าไปตรวจสอบและหามาตรการป้องกันที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นแล้วนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือการผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และผิดฐานการละเมิดสิทธิผู้ป่วย แม้จะเป็นรพ.สนาม แต่ก็ถือเป็นสถานพยาบาลที่รัฐจัดตั้งขึ้น ดังนั้นจึงขอเตือนว่าในยามนี้ทุกคน ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือ และเห็นใจกัน เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

นพ.รุ่งเรือง กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่มีคนวิพาษ์วิจารณ์ว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิดขาดแคลนนั้น ขอชี้แจงว่า ไม่ได้ขาดแคลน เพราะขณะนี้ยังมีในสต็อกอยู่กว่า 5 แสน และให้มีการจัดหามาเพิ่มอีก 5 แสนเม็ด รวมแล้วจะมียาฟาวิพิราเวียร์ โดยผู้ป่วย 1 คน ต้องใช้ยาประมาณ 70 เม็ด ดังนั้น ยาที่มีจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ 1.4 หมื่นคน ซึ่งก็ต้องย้ำว่าผู้ติดเชื้อโควิดทุกคนไม่ใช่ว่าจะต้องรับยาทั้งหมด แต่ยานี้จะให้กับผู้ที่มีอาการและอาการรุนแรงเป็นหลัก