เปิดแนวทางการใช้ 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ตัวยาต้าน 'โควิด-19'

เปิดแนวทางการใช้ 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ตัวยาต้าน 'โควิด-19'

“กรมการแพทย์” เผยกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำให้ประชาชนมั่นใจระบบการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วย “โควิด-19” ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดเตรียมยา “ฟาวิพิราเวียร์” เพียงพอกับความต้องการ

เมื่อวันที่ 14 เม.ย.64 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศระลอกเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดระบบการรักษาพยาบาล การเตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ ได้มีการประชุมหารือแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อรายใหม่ และวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จนอาการผู้ป่วยหายเป็นปกติ และไม่มีอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ซึ่งเป็นระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียม "ยาฟาวิพิราเวียร์" (Favipiravir)  ไว้ประมาณกว่า  400,000 เม็ด (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2564) ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้มีการสั่งซื้อเพิ่มอีก 5 แสนเม็ด โดยจะกระจายยาไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตน์ฯ  โรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันโรคทรวงอก และโรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัดต่าง ๆ ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า “ยาฟาวิพิราเวียร์” มีเพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ หากเกิดการระบาดระลอกใหม่

ทั้งนี้ หลักการใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ตามแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการทางคลินิกแพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาตามความเหมาะสม ของอาการผู้ป่วย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อผู้ป่วยมีอาการรีบมาโรงพยาบาลแจ้งประวัติให้บุคลการทางการแพทย์ทราบ จะช่วยให้การวินิจฉัยได้ไว และ รักษา ได้ เร็ว ผู้ป่วยก็จะหายไวขึ้น