เปิดผลงานรัฐบาล ทำอะไรไปแล้วบ้าง? เพื่อรองรับ 'สังคมผู้สูงอายุ'

เปิดผลงานรัฐบาล ทำอะไรไปแล้วบ้าง? เพื่อรองรับ 'สังคมผู้สูงอายุ'

เปิดผลงานรัฐบาล ทำอะไรไปแล้วบ้าง? เพื่อรองรับ "สังคมผู้สูงอายุ" ที่คาดว่าตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยที่อายุ 60 ปี ถึงปีละ 1 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 มี.ค.2564) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. วันที่ 30 มีนาคม 2564 ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลว่า ครม.ได้รับทราบกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยตัวเลขที่น่าสนใจของสถานการณ์ผู้สูงอายุ ในปี 2562 ดังนี้

ประชากรผู้สูงอายุมีประมาณ 11.6 ล้านคน หรือ 17.5% ของประชาชนทั่งประเทศ โดยผู้สูงอายุหมายถึงประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แล้วถ้ามองต่อไปในอนาคต ถ้านับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุ 60 ปี ถึงปีละ 1 ล้านคน และในปี 2576 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก คิดเป็นร้อยละ 28% ของประชาชนทั้งประเทศ ในขณะที่จำนวนเด็กที่เกิดใหม่ในปี 2562 มีจำนวนที่ลดลง เหลือเพียง 6.1 แสนคนเท่านั้น 

ขณะที่สถานการณ์ผู้สูงอายุทั่วโลก มีผู้สูงอายุครบ 1,000 ล้านคนแล้วในปี 2562 และคิดเป็น 13% ของประชากรทั้งโลก ในลักษณะเดียวกันประชากรโลกกำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ช้าโลก แต่ประชากรผู้สูงอายุที่อายุ 100 ปีขึ้นไป กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

โดยการดำเนินการของรัฐบาลในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา มีความสำเร็จอะไรบ้าง?

1.การศึกษา ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน 1,555 แห่ง และในโรงเรียนผู้สูงอายุได้กำหนดเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ในมิติสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

2.สุขอนามัย มีการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการกองทุนหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ซึ่งมีผู้สูงอายุที่ได้รับการพึ่งพิง ได้รับการดูแลราว 2 แสนกว่าคน

3.ที่อยู่อาศัย มีการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านให้ผู้สูงอายุไปแล้ว 3,200 หลัง และปรับปรุงสถานที่สาธารณะให้เอื้อต่อผู้สูงอายุและผู้พิการ จำนวน 20 แห่ง

4.การส่งเสริมการทำงานและมีรายได้ รัฐบาลออกมาตรการเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชน มีการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น และมีการตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 1,489 แห่ง มีผู้ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี 2562 จำนวน 9 ล้านคน 

ทั้งนี้ข้อเสนอที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้เสนอต่อ ครม.เพื่อเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุในระยะยาว ได้เสนอให้ควรที่จะทบทวนและคำนึงถึงความยั่งยืน และภาระด้านงบประมาณอย่างจริงจังต่อการจัดสวัสดิการผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐ และควรจะปรับกระบวนทัศน์ให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม