เมื่อ ‘เสี่ยวหมี่’ ทำรถยนต์

เมื่อ ‘เสี่ยวหมี่’ ทำรถยนต์

"เสี่ยวหมี่" สร้างความฮือฮาอีกครั้ง เมื่อมีข่าวลือออกมาว่า Xiaomi กำลังซุ่มคิดเดินหน้าสู่ธุรกิจรถยนต์ เพราะเหตุใดเหลย จุน เจ้าของ Xiaomi จึงกระโดดเข้าสู่ธุรกิจนี้ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนมีผู้เล่นมากและแข่งขันอย่างดุเดือด

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่ฮือฮาในวงการเทคโนโลยีจีนว่า "เสี่ยวหมี่" (Xiaomi) ซึ่งเดิมผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กำลังซุ่มคิดจะเริ่มทำแบรนด์รถยนต์ของตัวเอง แหล่งข่าวอ้างอิงข้อมูลว่า เหลย จุน เจ้าของ Xiaomi มองว่าธุรกิจรถยนต์จะมีความสำคัญ “ในระดับยุทธศาสตร์” ต่อความอยู่รอดของบริษัทในอนาคตเลยทีเดียว

ความจริงแล้วเสี่ยวหมี่ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีจีนเจ้าแรกที่เข้ามาเล่นในตลาดรถยนต์ยุคใหม่ เมื่อเดือนที่แล้ว Baidu เสิร์ชเอ็นจิ้นรายใหญ่ของจีน ก็ประกาศสร้างบริษัทรถยนต์อัจฉริยะของตนเอง โดยจะร่วมทุนกับ Geely (บริษัทแม่ของวอลโว่)

เจ้าพ่อเทคโนโลยี 5G อย่างหัวเว่ยก็ได้ประกาศว่าจะร่วมมือกับ Chang An Auto ส่วนยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระบบอย่าง Qualcomm ก็มีความร่วมมือกับ Great Wall Motor ในขณะที่อาลีบาบาก็ได้จับมือกับ SAIC Motor เพื่อพัฒนารถยนต์อัจฉริยะ ไม่ใช่เฉพาะในจีนเท่านั้น ในสหรัฐ แอ๊ปเปิ้ลก็จับมือกับฮุนไดเพื่อพัฒนารถยนต์อัจฉริยะ ส่วนยักษ์ใหญ่อย่างอะเมซอนก็ได้เปิดตัว Zoox รถยนต์แท็กซี่ไฟฟ้าไร้คนขับ

นักวิเคราะห์มองว่า หากเสี่ยวหมี่ตัดสินใจเดินหน้าโครงการรถยนต์ตามข่าวที่ออกมาจริง ก็คงจะใช้โมเดลเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีรายอื่น นั่นคือหาบริษัทรถยนต์ดั้งเดิมมาเป็นพาร์ทเนอร์ โดยบริษัทรถยนต์รับผิดชอบเรื่องการผลิตตัวรถ ส่วนบริษัทเทคโนโลยีอย่างเสี่ยวหมี่รับผิดชอบเรื่องระบบปฏิบัติการรถยนต์อัจฉริยะ

จากความสำเร็จของยักษ์ใหญ่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเทสลา และการบุกตลาดจีนของเทสลาในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนต่างมองว่าเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะมีศักยภาพทางธุรกิจมหาศาล 

หลายคนมักพูดกันว่า เทรนด์ใหม่ของวงการรถยนต์คือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่จริงๆ ไม่ใช่เพียงต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นรถยนต์อัจฉริยะด้วย รถยนต์อัจฉริยะต้องการการพัฒนาทั้งซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และระบบปฏิบัติการ ในขั้นแรกเราอาจนึกถึงรถยนต์ที่เราสามารถพูดสั่งการให้รถยนต์ทำสิ่งต่างๆ ได้ (ลดเร่งแอร์ เปิดเพลง เตือนเมื่อมีสิ่งกีดขวาง ฯลฯ) แต่เมื่อพัฒนาไปถึงขีดสุด ย่อมจะเข้าสู่ยุครถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งรถสามารถขับเคลื่อนบนถนนได้เองด้วยปัญญาประดิษฐ์

คำถามสำคัญก็คือ เพราะเหตุใดเหลย จุน เจ้าของเสี่ยวหมี่จึงมองว่าการกระโดดเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์มีความสำคัญในระดับยุทธศาสตร์สำหรับบริษัท ทั้งๆ ที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนตอนนี้ประกอบด้วยผู้เล่นมากจนเกินตัว แข่งขันกันดุเดือดเลือดพล่าน หลายคนถามว่ายังมีพื้นที่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่อีกหรือ

คำตอบก็คือ ในอนาคตรถยนต์ไร้คนขับจะมีลักษณะเหมือนเป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะ หากรถยนต์ไร้คนขับเกิดขึ้นจริง ย่อมจะเปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์มหาศาล ต่อไปเราสามารถนั่งประชุม ทำงาน ดูหนังฟังเพลง ทำกิจกรรมต่างๆ ภายในรถได้ตลอดเวลา (เพราะเราไม่ต้องขับรถเองอีกต่อไป)

หากมองในแง่นี้ รถยนต์ก็จะคล้ายกับสมาร์ทโฟนในเวลานี้ ปัจจุบันเราใช้อินเทอร์เน็ตและเสพสาระความบันเทิงต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งสมาร์ทโฟนยังเป็นตัวเชื่อมเข้ากับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ (นึกถึงสินค้าต่างๆ ของเสี่ยวหมี่ที่เราสามารถควบคุมได้ด้วยแอพในสมาร์ทโฟน) หากแต่ในอนาคต รถยนต์ไร้คนขับจะกลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญของการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนแทน

การกระโดดเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์จึงเป็นการเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีระบบปฏิบัติการและ Ecosystem สำหรับการใช้ชีวิตยุคใหม่ที่เหมาะสมกับยุครถยนต์ไร้คนขับที่กำลังจะมาถึง การลงทุนร่วมกับบริษัทรถยนต์ดั้งเดิมจะทำให้บริษัทเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยดูห่วงโซ่การผลิตและระบบของรถทั้งระบบ แตกต่างจากที่สมัยก่อนบริษัทเทคโนโลยีเพียงบริการขายซอฟต์แวร์ หรือรับจ้างบริษัทรถยนต์พัฒนาระบบปฏิบัติการ ซึ่งอาจทำให้มองไม่เห็นภาพการเชื่อมโยงทั้งระบบของรถยนต์

การพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ชั้นสูง ยังจะมีศักยภาพที่จะนำผลการพัฒนามาแตกยอดต่อหน่อในอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นๆ ในโลกยุค Internet of Things ได้อีกด้วย เช่นเดียวกับที่การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในสมัยก่อน เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต รวมทั้งแตกยอดต่อหน่อออกมาเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในชีวิตประจำวันและในผลิตภัณฑ์มากมาย

หัวใจสำคัญข้อหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจรอบ 5 ปีใหม่ของจีนคือเรื่องพลังงานสะอาด โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญคืออุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานสะอาด มีการคาดการณ์ว่าภายในประเทศจีนจะมียอดขายรถยนต์พลังงานสะอาดคิดเป็น 50% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในจีน ภายในปี 2035

นักวิเคราะห์หลายคนเคยตั้งข้อสังเกตว่าการเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานขนาดมหึมาของเทสลาที่มหานครเซี่ยงไฮ้ในประเทศจีน อาจเปรียบเทียบได้กับการเข้ามาลงทุนผลิตไอโฟนของแอ๊ปเปิ้ลในจีนเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้นส่งผลให้เกิดห่วงโซ่การผลิตสมาร์ทโฟนและนำไปสู่การเกิดบริษัทสมาร์ทโฟนของจีนเองมากมาย

เช่นเดียวกัน การเข้ามาของเทสลาในวันนี้ก็จะนำไปสู่การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์อัจฉริยะ ซึ่งกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของสมรภูมิใหม่ที่จะตัดสินอนาคตของบริษัทเทคโนโลยีแนวหน้าของจีน

ในอดีต บริษัทเทคโนโลยีจีนที่มองเห็นโอกาสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Mobile Internet ที่ชีวิตประจำวันของเราอยู่กับสมาร์ทโฟน กลายมาเป็นผู้ชนะในเกมธุรกิจในวันนี้ สำหรับในอนาคตนั้น หากมองในระดับยุทธศาสตร์ธุรกิจแล้ว บริษัทเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาโมเดลรถยนต์อัจฉริยะที่ตอบโจทย์ชีวิตยุครถยนต์ไร้คนขับ ย่อมจะเป็นผู้ชนะในเกมธุรกิจระยะยาว

ด้วยการแข่งขันที่ดุเดือดและเงินทุนมหาศาลที่ลงไปกับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์อัจฉริยะในจีน ย่อมส่งผลผลักให้โลกรถยนต์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นี่ยังจะเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิการแข่งขันระหว่างฝั่งสหรัฐ และฝั่งจีนว่าใครจะเป็นผู้ชนะในสมรภูมิรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถยนต์อัจฉริยะ และบุกยึดตลาดรถยนต์โลกในอนาคต