'สศช.' แนะเร่งปฏิรูปการออม ชี้แรงงานกว่า 14 ล้านคนยังขาดหลักประกันหลังเกษียณ

'สศช.' แนะเร่งปฏิรูปการออม ชี้แรงงานกว่า 14 ล้านคนยังขาดหลักประกันหลังเกษียณ

"สศช."แนะรัฐปฏิรูปการออมประเทศ หลังข้อมูลชี้ชัดประชากรกว่า 14.5 ล้านราย ขาดหลักประกันเงินออมหลังเกษียณ หวั่นรัฐมีภาระจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุและจ่ายเงินเยียวยาสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังเข้าสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอดแนะเพิ่มการออมภาคบังคับ ขยายเพดานการออมเป็น 12%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้จัดทำรายงานเรื่องหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยพบว่าปัญหาการออมเงินให้เพียงพอต่อการใช้ในวัยเกษียณจะเป็นเรื่องเป็นปัญหาระยะยาวของไทยที่ต้องมีการวางแผนแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 และในปี 2576 สังคมไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดมีประชากรกว่า 28%ที่มีอายุเกิน 60 ปี ซึ่งเมื่อดูข้อมูลเรื่องการออมเงินเพื่อรองรับการใช้จ่ายหลังจากเกษียณอายุพบว่าคนจำนวนมากยังมีเงินไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายหลังจากเกษียณ

ทั้งนี้ข้อมูลการเตรียมความพร้อมด้านการเงินและสุขภาพในสังคมอายุยืนของสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าเงินออมสำหรับการดำรงชีวิตสำหรับผู้เกษียณอายุที่เหมาะสมหากอยู่ในสังคมเมืองต้องมีเงินออมไม่น้อยกว่า 4.3 ล้านบาท ขณะที่หากอยู่ในชนบทที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าควรมีเงินออมไม่น้อยกว่า 2.8 ล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลพบว่าครัวเรือนทั่วประเทศมีครัวเรือนที่มีเงินออมเกิน 2.8 ล้านบาทเพียงแค่ 1.2 แสนครัวเรือนหรือคิดเป็น 0.5%ของครัวเรือนทั่วประเทศเท่านั้น สะท้อนว่าระดับการออมของครัวเรือนไทยยังไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันหากดูในระบบบำนาญของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วโลกอันดับของประเทศไทยก็ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำที่สุดของโลกหากดูทั้งในมิติของความเพียงพอของเงินออม

“รายได้หลังเกษียณที่เหมาะสมคือต้องมีรายได้ประมาณ50 - 60%ของเงินเดือนสุดท้ายแต่ปัจจุบันมีคนไทยที่สามารถมีรายได้หลังเกษียณในระดับดังกล่าวน้อยมากส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่มีระบบบำนาญและมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการดูแล ขณะที่แรงงาน37.9ล้านคนยังพอมีรายได้จากระบบบำนาญรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งรองรับ โดยยังมีคนอีกประมาณ14.5ล้านคนที่จะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยไม่มีระบบรองรับและได้รับเพียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างเดียวซึ่งหากไม่ทำอะไรเลยภาระในการให้สวัสดิการ ดูแลผู้สูงอายุของไทยจะเพิ่มขึ้นเพราะปัจจุบันผู้รับเบี้ยผู้สูงอายุยังมีแค่ประมาณ 9 แสนคน หากมีจำนวนผู้มีรายได้และเงินออมต่ำก็จะเป็นภาระของภาครัฐในระยะยาว”

โดยเรื่องนี้สศช.จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการของสศช.และส่งเรื่องไปรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเพื่อให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้

นายดนุชากล่าวว่าแนวทางในการเพิ่มเงินออมให้กับประชาชนเพื่อรองรับการเกษียณอายุเป็นเรื่องที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนในหลายเรื่อง เช่นเปลี่ยนจากการออมภาคสมัครใจเป็นการออมในภาคบังคับ การส่งเสริมความรู้ทางด้านการเงินให้กับภาคครัวเรือน รวมถึงการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการออม เช่น การขยายเพดานสูงสุดการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนให้จ่ายได้สูงสุดประมาณ 12%เพื่อสมทบการออมเงินในกองทุนชราภาพ คล้ายกับในส่วนที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้คนมีเงินออมในวัยเกษียณเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการจ้างงานผู้สูงอายุตามความสามารถของผู้สูงวัยให้มีโอกาสมีรายได้ช่วงวัยเกษียณหากทำได้จะลดภาระการพึ่งพิงรัฐบาลลง