‘TOP’ เผยปี63 พลิกขาดทุน 3.3 พันลบ.

‘TOP’ เผยปี63 พลิกขาดทุน 3.3 พันลบ.

TOP เผยปี 63 พลิกขาดทุน 3.3 พันล้านบาท ลดลง 153% จากรายได้การขายที่ลดลงจากผลกระทบโควิด-19 และขาดทุนสต็อกน้ำมันอีกกว่า 7.3 พันล้านบาท ส่วนไตรมาส 4/63 มีกำไรสุทธิ 7.2 พันล้านบาท หลังขายหุ้น GPSC และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทแข็งค่า พร้อมประกาศปันผล 0.70 บาท/หุ้น ขึ้น XD 25 ก.พ. 64

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ว่า สำหรับผลดำเนินงานปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 3,301.40 ล้านบาท ลดลง 153% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,276.68 ล้านบาท

โดยกลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขาย 242,840 ล้านบาท ลดลง 118,928 ล้านบาท หรือ 57% จากปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายผลิตภัณฑ์และปริมาณการขายผลิตภัณฑ์รวมที่ปรับลดลงจากผลกระทบของสงครามราคาน้ำมันและการระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้แม้อัตรากำไรขั้นต้นของสาร LAB จะดีขึ้น แต่จากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่อ่อนตัวลง

ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 2.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 2.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ยังมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 7,399ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 1,581 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 174 ล้านบาท

ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกลุ่มไทยออยล์ในปี 2563 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อน จากค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผนในปีที่แล้วประกอบกับในปีนี้กลุ่มไทยออยล์มีการดำเนินกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการในการบริหารงานระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มีผลขาดทุน EBITDA 2,055 ล้านบาท เทียบกับ EBITDA 14,149 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ1,784 ล้านบาทจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยมีต้นทุนทางการเงิน 4,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,068 ล้านบาท และมีกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จำนวน 5,801 ล้านบาท

สำหรับไตรมาส 4/63 มีกำไรสุทธิ 7,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 266% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดย มีรายได้จากการขาย 59,592 ล้านบาท ลดลง 36,260 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายผลิตภัณฑ์และปริมาณการขายผลิตภัณฑ์รวมที่ปรับลดลง และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 0.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากค่าการกลั่นที่ถูกกดดันจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน/น้ำมันก๊าด และน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลงจากอุปสงค์ที่อ่อนตัวลงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่มีกำไรขั้นต้นจากกลุ่มอะโรเมติกส์เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาสารเบนซินกับน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ส่วนต่างราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานปรับตัวดีขึ้น แม้ส่วนต่างราคายางมะตอยกับน้ำมันเตาปรับลดลง

ประกอบกับมีผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 254 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มี EBITDA ลดลง 750 ล้านบาท เมื่อรวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิที่เพิ่มขึ้น 2,302 ล้านบาท และกำไรจากการขายเงินลงทุนใน GPSC 5,801 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบช่วงครึ่งแรกของปี 64 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าครึ่งหลังของปี 63 หลังตลาดคาดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มขยายตัว รวมถึงมีความคืบหน้าการพัฒนาและส่งมอบวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากประเทศนอกกลุ่มโอเปก เช่น ประเทศนอร์เวย์และบราซิล รวมถึงสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มกำลังการผลิตเช่นกัน

ธุรกิจการกลั่นคาดว่าครึ่งปีแรกจะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศเริ่มมีการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19และเริ่มมีการฉีดให้กับประชาชน ประกอบกับแรงหนุนจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกซึ่งจะช่วยสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลสำหรับภาคคมนาคมขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมให้ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ตลาดน้ำมันอากาศยานยังมีแนวโน้มถูกกดดันต่อเนื่อง

สำหรับแผนการลงทุนบริษัทฯ และ บริษัทในกลุ่มมีแผนการลงทุนโครงการในอนาคต ตั้งแต่ปี 64-67 จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,248 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project:CFP) 1,903 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำของ TOP SPP จำนวน 145 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงการ CFP เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทฯ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มความยืดหยุ่นก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาดและลดต้นทุนวัตถุดิบ มีมูลค่าลงทุนรวม 4,826 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 58 คาดว่าแล้วเสร็จในไตรมาส 1/66

ที่ประชุมคณะกรรมการอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลดำเนินงานปี 63 ในอัตราหุ้นละ 0.70 บาท กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 25 ก.พ. 64 กำหนดจ่ายวันที่ 26 เม.ย.64