กูรูฟันธงกนง.คงดอกเบี้ย จับตาลดเงินนำส่ง ‘FIDF’

กูรูฟันธงกนง.คงดอกเบี้ย จับตาลดเงินนำส่ง ‘FIDF’

กูรูเศรษฐศาสตร์ส่องผลประชุมกนง. คาดคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% หลังเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น จับตากนง.ลดเงินนำส่ง FIDF 0.23% วันนี้หวังเห็นการส่งผ่านจากการลดต้นทุน ไปสู่แบงก์ช่วยลดดอกเบี้ยให้ผู้กู้แทน

   คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ประชุมนัดแรกของปี2564วันนี้ (3 ก.พ.)เพื่อพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ย ด้านกูรู คาดรอบนี้จะยังคงดอกเบี้ยที่ 0.50% หวังเก็บกระสุนใช้ในยามจำเป็น

   อมรเทพ​ จาวะลา​ ผู้ช่วย​กรรมการ​ผู้จัดการ​ใหญ่​ สำนักวิจัย​ธนาคาร​ ซี​ไอเอ็มบี​ไทย​ คาดการณ์ว่าการประชุมกนง.ครั้งนี้จะไม่น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะข้อจำกัดของนโยบายการเงิน ไม่ใช่ดอกเบี้ย แต่เป็นสภาพคล่องที่ล้นแต่ไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย การแก้ไขอาจไม่ใช่การลดดอกเบี้ยที่เป็นลักษณะหว่านแหช่วยทุกคน

    ดังนั้นประเมินว่า กนง.น่าจะเลือกแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดมากกว่าหว่านแห หรือเลือกที่จะคลายเกณฑ์การปล่อยซอฟท์โลน การให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

   ทั้งนี้ ในรอบนี้ อาจเห็นกนง.เลือกลดดอกเบี้ยที่นำ FIDF ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.23% ลงทั้งหมด เพื่อให้แบงก์เกิดการส่งผ่านโดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยลดภาระรายจ่ายลูกหนี้ลง พร้อมๆกับเพิ่มแรงจูงใจให้คนลงทุนหรือใช้จ่ายมากขึ้น

   “กนง.น่าจะไม่ลดดอกเบี้ย แต่จะหาทางฉีดซอฟท์โลนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เร็ว เพื่อดูแลผลกระทบ วันนี้นโยบายการเงินต้องมาเป็นกองหน้า เพราะด้านนโยบายการคลังช้า ในขณะที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงขาลงมากขึ้น”

    ด้านพิพัฒน์ เหลืองนิมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า คาด กนง.มีโอกาสทั้งลดดอกเบี้ยนโยบายการเงิน ลงจากระดับ 0.50% แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่กนง.จะไม่ลดดอกเบี้ย เพราะที่ผ่านมากนง.มีการสื่อสารต่อเนื่อง ว่าโควิด-19รอบใหม่ มีผลกระทบน้อยกว่ารอบแรก ดังนั้นก็อาจเห็นกนง.เก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยในครั้งนี้ได้

    ทั้งนี้อาจเห็นการปรับลงเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน(FIDF)ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.23% ลงมา เพราะเศรษฐกิจปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือและกระตุ้น

    ด้านเครื่องมือทางการเงินอื่นๆมองว่า ยังมีอีกค่อนข้างมากที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะนโยบายการเงินใหม่ๆที่ต่างประเทศมีการนำมาใช้ ทั้งการอัดฉีดสภาพคล่องโดยตรงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หรืออัดฉีดสภาพคล่องเฉพาะบางตลาด หรือบางจุดเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนได้ เพื่อช่วยประคองและลดผลกระทบจากเศรษฐกิจในปัจจุบัน

    ทั้งนี้ ล่าสุดได้มีการปรับจีดีพีลงเหลือ 2% จากเดิม3.5% ในปีนี้ จากผลกระทบของโควิด-19 และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ จะยืดเยื้อและรุนแรงกว่ารอบแรกหรือไม่ เพราะหากใช้เวลาควบคุมโควิด-19 นาน อาจส่างผลกระทบต่อการบริโภคไม่กลับมาสู่ระบบปกติได้

    กรณีเลวร้ายหากกระทบทำให้ไม่สามารถเปิดประเทศได้ และอาจต้องใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 ถึงสองไตรมาส ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีปีนี้ หดตัวไปสู่ -1.2% ได้

หวังธปท.งัด“Ware Housing”ช่วยธุรกิจโรงแรม

    นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า คาดกนง.ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยลงรอบนี้ แต่มีโอกาสที่จะเห็นการลดเงินนำส่ง FIDF เพื่อให้แบงก์เกิดการส่งผ่านต้นทุนที่ลดลง ไปสู่การลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยผู้กู้ เพราะหากกนง.เลือกลดดอกเบี้ยนโยบาย อาจมีผลกระทบต่อผู้ออมเงินในปัจจุบันได้ ดังนั้นอาจเห็นกนง.เลือกเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยไว้ก่อน

    อย่างไรก็ตามมองว่า สิ่งที่ธปท.ต้องให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม คือภาคธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยว ผ่านนโยบายการทำ “Ware Housing”หรือการนำซอฟท์โลนมาช่วยดูแลหนี้กลุ่มนี้ให้เกิดการหยุดพักไว้ก่อน เพื่อลดภาระธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยว จากผลกระทบโควิด-19 ดังนั้นอาจเห็นการนำซอฟท์โลนมาช่วยภาคธุรกิจในมุมอื่นๆมากขึ้น แทนที่จะให้สภาพคล่องโดยตรงได้

เร่งธปท.แก้ซอฟท์โลนช่วยสภาพคล่องธุรกิจ

   ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า คาดกนง.จะไม่มีการลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพราะมองว่าดอกเบี้ยเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายการเงิน

   แต่โจทย์เฉพาะหน้าที่ธปท.ต้องเร่งทำคือ การช่วยเหลือเอสเอ็มอี ผ่านการให้สภาพคล่อง ดังนั้นยังมีกลไกอื่นๆที่ธปท.อาจต้องเร่งทำและเร่งแก้ไขก่อน เช่น เรื่องซอทฟ์โลน เพราะการลดดอกเบี้ย ก็อาจไม่ได้ช่วยให้เงินไปถึงเอสเอ็มอีได้

    ดังนั้นตัวสำคัญ น่าจะเป็นเรื่องซอฟท์โลน และการใช้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ เพื่อลดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งมองว่า กนง.น่าอยู่ระหว่างการปรับตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไทยใหม่ ในเดือนมี.ค. ที่จะมีการปรับตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งเมื่อเห็นความชัดเจนและผลกระทบมากขึ้น

   ขณะที่ พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กนง.ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ เพราะการดำเนินนโยบายการเงินทั่วโลกขณะนี้ ยังไม่มีประเทศไทยลดดอกเบี้ย

    อีกทั้งการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ถือว่าน้อยกว่าโควิด-19ครั้งแรก ภาคการผลิต การส่งออกยังสามารถขับเคลื่อนได้ ดังนั้นความจำเป็นเร่งด่วนของนโยบายการเงินที่จะต้องลดดอกเบี้ยตอนนี้อาจไม่มากนัก

    อย่างไรก็ตาม โจทย์ยากที่สุดของธปท.ขณะนี้ คือการช่วยเหลือผู้ประกอบการและธุรกิจให้เข้าถึงสภาพคล่องให้ได้มากขึ้น จากผลกระทบที่มีต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาซอฟท์โลนยังมีปัญหาติดขัดค่อนข้างมาก

   ซึ่งโจทย์ที่ธปท.ต้องทำคือเร่งเติมสภาพคล่องเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบ และใช้เครื่องมืออื่นๆเข้ามาช่วยมากขึ้น เช่น การช่วยเหลือธุรกิจโรงเที่ยว ที่อาจเป็นโฟกัสสำหรับธปท.ที่ต้องเร่งทำ เพราะธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบยาว ดังนั้นจำเป็นที่ต้องเร่งเรื่อง Ware Housing โดยเร็ว