สภาวิศวกรจับมือเอสซีจี ยกระดับวิศวกรไทยสู่สากล

สภาวิศวกรจับมือเอสซีจี ยกระดับวิศวกรไทยสู่สากล

“สภาวิศวกร” จับมือ “เอสซีจี” ยกระดับวิศวกรไทย หวังสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ให้ก้าวทันนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมยกระดับช่างก่อสร้างทั่วประเทศให้ได้มาตรฐาน ลดความสูญเสียจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

161154900689

นายชนะ ภูมี Vice President ธุรกิจ Cement and Construction Solution ในเอสซีจี เปิดเผยภายหลังการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิศวกรไทยระหว่าง บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด และสภาวิศวกร ว่า ในขณะนี้เทคโนโลยีในด้านต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก โดยเฉพาะในด้านการก่อสร้าง ดังนั้น เอสซีจี จึงได้ร่วมมือกับสภาวิศวกร เพื่อยกระดับความสามารถของวิศวกร โดยเริ่มจากวิศวกรของ CPAC ที่ในปัจจุบันมีอยู่กว่า 500 คน ซึ่งเป็นวิศวกรก่อสร้างที่อยู่ในหลายสาขา เช่น วิศวกรโยธา, ไฟฟ้า, งานระบบ และสุขาภิบาล เป็นต้น ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นตามการจัดระดับของสภาวิศวกรไทย ที่เริ่มตั้งแต่ภาคีวิศวกรพิเศษ, ภาคีวิศวกร, สามัญวิศวกร และวุฒิวิศวกร โดยภาคีวิศวกรพิเศษ จะเป็นระดับความสามารถของช่างระดับ ปวส. ที่ยกระดับไปสู่การเป็นวิศวกร ภาคีวิศวกร จะเป็นวิศวกรจบปริญญาตรีที่ต้องผ่านการสอบขึ้นทะเบียนเป็นภาคีวิศวกร สามัญวิศวกร จะเป็นวิศวกรที่ยกระดับความสามารถขึ้นมาดูแลโครงการที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น จะต้องอาศัยเวลาในการสะสมประสบการณ์มาในระดับหนึ่ง และวุฒิวิศวกร จะเป็นระดับสูงสุดที่ดูแลโครงการขนาดใหญ่อย่างไม่จำกัด ซึ่งมีจำนวนน้อยมากในประเทศไทย

161154912047

ในส่วน วิศวกรของ CPAC ทั้งหมดกว่า 500 คน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับภาคีวิศวกรเกือบ 400 คน ในระดับสามัญวิศวกรประมาณ 50 คน และระดับวุฒิวิศวกรประมาณ 4-5 คน ซึ่งในความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะยกระดับวิศวกรของ CPAC ทั้งหมดไปสู่ระดับสามัญวิศวกรให้ได้ภายใน 2 ปี รวมทั้งจะยกระดับช่างก่อสร้างของ CPAC  ที่มีอยู่ประมาณ 50 คน ไปสู่ระดับภาคีวิศวกรพิเศษให้ได้ภายใน 1–1 ปีครึ่ง ซึ่งหากยกระดับวิศวกรเหล่านี้ได้ก็จะมีศักยภาพในการก้าวออกไปทำงานในต่างประเทศได้มากขึ้น เพราะการที่จะออกไปรับงานในอาเซียนได้จะต้องอยู่ในระดับสามัญวิศวกร

นอกจากนี้ CPAC จะทำงานผ่าน CPAC Solution Center ทั่วประเทศ เข้าไปยกระดับช่างก่อสร้างภายนอก           ที่ทำงานร่วมกับ CPAC ในการยกระดับช่างไปสู่การเป็นภาคีวิศวกรพิเศษ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพการก่อสร้างของไทยโดยรวมให้เพิ่มขึ้น โดยในขณะนี้ในงานก่อสร้างของไทยมีอัตราความสูญเสียจากระบบทั้งเศษวัสดุเหลือทิ้ง และการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นหากผู้รับเหมาของไทยยกระดับความสามารถของวิศวกรได้ทั้งประเทศ ก็จะทำให้ประหยัดเงินในการก่อสร้างได้มากโดยในส่วนของ CPAC ได้ลดอัตราความสูญเสียเหลือเพียงไม่ถึง 5% ทำให้งานก่อสร้างของ CPAC มีความได้เปรียบคู่แข่ง

“ในการยกระดับวิศวกรของช่างผู้รับเหมาเหล่านี้ ไม่เพียงจะทำให้บริษัทก่อสร้างรายย่อยเหล่านี้มีกำไรเพิ่มขึ้น และมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น แต่จะทำให้ผู้บริโภคได้บ้านหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณภาพ ตรงต่อเวลา คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป และยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานงานก่อสร้างให้มีมาตรฐานเดียวกัน”

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการยกระดับวิศวกรของ CPAC แต่ CPAC ยังจะนำเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ ๆ ของบริษัทไปถ่ายทอดให้กับสภาวิศวกร และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งนำนักศึกษาวิศวกรเข้ามาฝึกงานกับบริษัท เพื่อให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านจากประสบการณ์จริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสบการณ์ และความสามารถของวิศวกรรุ่นใหม่ต่อไป

161154906823

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า ในขณะนี้สภาวิศวกรมีสมาชิกกว่า 3 แสนราย ซึ่งมีภารกิจที่สำคัญก็คือการสนับสนุนงานวิชาการ และการวิจัยให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้สภาวิศวกรได้รับการถ่ายทอดความรู้จาก CPAC ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับภูมิภาคอาเซียนของไทยในด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่ ทำให้สามารถยกระดับความสามารถของวิศวกรไทยโดยเฉพาะนักศึกษาวิศวกรในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ช่วยสร้างอาชีพวิศวกรให้มีศักยภาพมากขึ้น

“ในงานก่อสร้างทุกชนิดจะต้องพึ่งพาวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ กำลังพลทางด้านวิศวกรรมที่มีคุณภาพ รวมไปถึงต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ ซึ่ง CPAC มีจุดเด่นในเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี           การก่อสร้างใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า หากนำมาถ่ายทอดให้กับวิศวกรรุ่นใหม่ ก็จะช่วยเพิ่มคุณภาพการก่อสร้างของไทยให้ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งสภาวิศวกรเป็นหน่วยงานวิชาชีพที่ใหญ่ที่สุด แต่ไม่มีหน่วยงานวิจัย จึงต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนที่มีข้อมูลความรู้และนวัตกรรมชั้นสูง ในการสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ ๆ ให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการก่อสร้างได้มากขึ้น เพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป