‘ไทยพาณิชย์’ ชี้จีน แห่ขนเงินลงทุนไทย

‘ไทยพาณิชย์’ ชี้จีน แห่ขนเงินลงทุนไทย

“ไทยพาณิชย์” คาดนักธุรกิจจีน แห่ย้ายฐานการผลิตหลังหมดโควิด-19 นักธุรกิจจีนแห่ย้ายลงทุนเข้าไทย หลังจีนมองไทยมีศักยภาพ และศูนย์กลางอาเซียน ยันพอร์ตลูกค้าจีน แกร่ง ฐานะการเงินแข็งแกร่ง ไม่มีหนี้เสีย หลังแบงก์คัดกรองเข้มข้น


       นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หากดูการลงทุนของนักลงทุนจีนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเข้ามาลงทุนไทยเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด

     โดยนับตั้งแต่ปี 2561 สัดส่วนลงทุนของนักธุรกิจจีนได้เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง จากอดีตที่ไม่ถึงอันดับ 4-5 ทำให้จีนแซงหน้าญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนการลงทุนในไทยสูงอันดับหนึ่งต่อเนื่อง

    หากดูข้อมูลลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีน ในปี 2562 พบว่า จีนมีการออกไปลงทุนต่างประเทศถึง 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งแบ่งเป็นการลงทุนในอาเซียน 11% และลงทุนในไทยไม่ถึง 1% หรือเพียง 0.3% เท่านั้น ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ หากเทียบกับการเข้าไปลงทุนของจีนในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่ลงทุนสูงราว 3-4%

     อย่างไรก็ตาม จากการทำผลสำรวจผู้บริหารและนักธุรกิจจีนของไทยพาณิชย์ กว่า 326 ราย พบว่า มีจำนวน 170 ราย ที่มีการลงทุนหรือเกี่ยวข้องกับไทย ทั้งยังพบว่า 2 ใน 3 ให้ความสนใจขยายการลงทุนมาไทยช่วง 2ปี ข้างหน้า เพราะมองว่าตลาดไทยมีศักยภาพและเป็นศูนย์กลางอาเซียน โดยเฉพาะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมลงทุนระบบราง รถไฟ ด้านอุตสาหกรรมบริการ สาธารณูปโภค เทคโนโลยี หรือการตั้งสำนักทนายความในไทยเพื่อรองรับนักธุรกิจจีนในอนาคต

    สำหรับพอร์ตลูกค้าจีนของธนาคารไทยพาณิชย์ ผ่านสาขาเซี่ยงไฮ้ สาขาฮ่องกง และสำนักงานผู้แทนกรุงปักกิ่ง พบว่า พอร์ตลูกค้าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นผู้นำธุรกิจ และมีฐานะการเงินมั่นคง ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเกี่ยวกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล เพราะธนาคารมีการคัดกรองลูกค้าเข้มข้น ทำให้พอร์ตลูกค้ามีประสิทธิภาพ


    ด้านนายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) คาดการณ์ว่า แม้ทั่วโลกจะเจอวิกฤตโควิด-19 แต่เชื่อว่า นักลงทุนจีนยังสนใจเข้ามาลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง

    โดยหากดูการลงทุนโดยตรง FDI ของโลก จากการประเมินของ UNCTAD คาดปีนี้แนวโน้มการลดลงทุนจะหดตัวราว -10% จากปีก่อนที่หดตัวสูงถึง -30-40% หรือคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558 ที่มีเม็ดเงินลงทุน 2.04 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากโควิด-19 แต่ภูมิภาคเอเชียหดตัวเพียง -12% สะท้อนการควบคุมโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี

    สำหรับ 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2563 พบว่า มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากนักลงทุนต่างชาติ หดตัว -29% แต่มูลค่าเงินลงทุนได้รับการอนุมัติเพิ่มขึ้น 21% ขณะที่จีน ได้รับการอนุมัติให้เข้ามาลงทุนไทยอยู่ที่ 5.15 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าเงินลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ 2.21 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน