PEA ลุยโซลาร์ฟาร์ม EEC ต้นแบบสังคมคาร์บอนต่ำ

PEA ลุยโซลาร์ฟาร์ม EEC ต้นแบบสังคมคาร์บอนต่ำ

การปลุกปั้นให้เขต EEC ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็นพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นพลังงานสะอาด เพื่อให้เกิดเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

คณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) จึงมอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) รับผิดชอบ ในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการ และทันการเจริญเติบโตของอีอีซี และให้จัดหาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เพื่อใช้ในพื้นที่อีอีซีโดย PEA ได้มอบหมายให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

เขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) กล่าวว่า PEA ENCOM ได้รับมอบโจทย์ที่ท้าทายในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในพื้นที่อีอีซี ให้มีสัดส่วน 30% และพลังงานฟอสซิล 70% จากปัจจุบัน พื้นที่อีอีซี มีความต้องการไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 4,000-4,500 เมกะวัตต์

และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2580 ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 เมกะวัตต์ในปี 2580 ซึ่งที่ผ่านมา PEA ENCOM ก็ได้เป็นพันธมิตรกับ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG) ในการร่วมผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม มากว่า 10 ปีแล้ว

ดังนั้น ระยะเริ่มต้นของการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อีอีซี นั้น บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG) ได้ร่วมมือกับ PEA ENCOM ในการศึกษาความเป็นไปได้ โครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสำรอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในเขตอีอีซี โดยมีเป้าหมายระยะแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2564-2569 มูลค่าการลงทุนกว่า 23,000 ล้านบาท 

160794952738

วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG กล่าวว่า ภายใต้การดำเนินโครงการฯนี้ จะลงทุนโดยบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) ซึ่งปัจจุบันผู้ถือหุ้นประกอบด้วย SPCG สัดส่วน 40% , บริษัท มิตซู เพาเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (Mitsu) ถือหุ้น 40% และ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ถือหุ้น 20%

โดย SPGC จะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ในวันที่ 15 ม.ค. 2564 พิจารณาอนุมัติการลงทุนโครงการดังกล่าวที่มีมูลค่า 23,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ บริษัทจะเข้ารับโอนกิจการทั้งหมดของ Mitsu ที่ถือหุ้นใน SET Energy ซึ่งจะทำให้บริษัทถือหุ้นใน SET Energy เพิ่มเป็น 80% และ PEA ENCOM ยังคงถือสัดส่วน 20% ซึ่งเม็ดเงินที่ใช้ในการลงทุนดังกล่าว SPCG เตรียมเพิ่มทุน 179.2 ล้านหุ้น

โดยเสนอขายให้นักลงทุนในวงจำกัด (PP) รวมถึงมีแผนจะออกตราสารหนี้ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ตลอดจนอาจพิจารณาจัดหาเงินกู้ระยะสั้นรองรับการลงทุนในโครงการดังกล่าวด้วย จึงมั่นใจว่า การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุนผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นลักษณะการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม) แบบกระจายครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด เบื้องต้น คาดว่า จะใช้พื้นที่ 50-100 ไร่ ต่อ 3- 10 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อที่ดินเพื่อลงทุนในโครการนี้

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นอีกโอกาสที่ช่วยให้ราคาที่ดินถูกลง จากก่อนหน้านี้ราคาที่ดินในอีอีซีแพงขึ้นมาก แต่บริษัทมั่นใจจากประสบการณ์ที่เป็นผู้บุกเบิกโซลาร์ฟาร์มเชิงพาณิชย์เจ้าแรกของประเทศ จะทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าแข่งขันได้ หรือเป็นราคาขายส่งให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) ได้”

โดย SPCG มีแผนจะขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อรับสิทธิยกเว้นและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล และคาดว่า การพัฒนาโครงการจะแล้วเสร็จรวมอย่างน้อย 300 เมกะวัตต์แรก ภายในปี 2564 และอีกไม่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 โดยจะทยอยรับรู้รายได้ ตั้งแต่ไตรมาสปี 2564 เป็นต้นไป ทำให้คาดว่า ในช่วยปี 2564-2565 รายได้รวม 6,000-7,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม โครงการฯนี้จะช่วยให้เกิดการจ้างงานกว่า 50,000 คนในช่วงของการพัฒนาโครงการ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่ผู้มีงานทำ รวมถึงยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ไม่น้อยกว่า 11 ล้านตันคาร์บอน ภายในระยะเวลา 30 ปี หรือประมาณ 4 แสนตันคาร์บอนต่อปี

อีกทั้ง การลงทุนโครงการพลังงานไฟฟ้า (แสงอาทิตย์) ในอีอีซี ให้เป็นพื้นที่สะอาดต้นแบบ หรือโมเดลใหม่ของประเทศไทยเป็นพื้นที่ชั้นนำของโลกในการใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์

ภายใต้แนวคิด เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อันดับที่ 8 ของโลก ช่วยให้ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ด้วยการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดการเกิดปัญหามลพิษทางอากาศ สอดคล้องตามแผนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ที่กำหนดไว้ว่า การพัฒนาพื้นที่อีอีซี ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ เพื่อการนำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy การพัฒนาที่ยั่งยืน

การลงทุนในโครงการนี้ จะหนุนการเติบโตของบริษัทในปีหน้า ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือประมาณ 500 เมกะวัตต์ โดยในปี 2564 จะมีกำลังผลิตไฟ้ฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 800 เมกะวัตต์ และเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 อีกทั้งในปี 2564 ยังศึกษาโอกาสเข้าซื้อกิจการ(M&A)โซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น ขนาดประมาณ 100 เมกะวัตต์