หุ้นแบงก์ฟื้นยกกลุ่ม มองปัจจัยบวกวัคซีนหนุน

หุ้นแบงก์ฟื้นยกกลุ่ม  มองปัจจัยบวกวัคซีนหนุน

หุ้นวัฎจักรทางเศรษฐกิจถือว่าเป็นกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแรงในช่วงเดือน พ.ย.  จนทำให้ราคาหุ้นหลายบริษัท ปรับขึ้นมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ซึ่งกลุ่มแบงก์ถือว่ามีเม็ดเงินกลับเข้ามาลงทุนโดดเด่นและพลักดันให้มูลค่าหุ้นปรับตัวขึ้น

ก่อนหน้านี้หุ้นแบงก์เจอปัจจัยลบกดดันหลายด้านตั้งแต่ผลกระทบจากการล็อกดาวน์ทำให้ต้องช่วยเหลือลูกค้าพักชำระหนี้และดอกเบี้ย   ตามมาด้วยการคุมเข้มของแบงก์ชาติสั่งห้ามซื้อหุ้นคืนและจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล   เพราะเป็นห่วงฐานะการเงินจะรองรับระยะยาวแค่ไหน  บวกกับผลประกอบการปรับตัวลดลงตามภาวะธุรกิจหยุดชะงัก 

ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ คลายความกังวลมากขึ้นด้วยไทยไม่มีการกลับมาระบาดรอบ2   ภาครัฐมีมาตรการช่วยเพิ่มเม็ดเงินในกระเป๋าให้ประชาชน    แบงก์ชาติไฟเขียวให้แบงก์กลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปี 2563 ได้  รวมทั้งผลทดสอบฐานะการเงินของกลุ่มแบงก์ออกมาแข็งแรงมากขึ้น  และประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะเริ่มใช้กับประชาชนดีขึ้น 

ดังนั้นมูลค่าหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ถูกปรับตัวลดลงจากการเทขาย ดัชนีกลุ่มกลับมามาอยู่ที่ระดับ  330 จุด  มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปรวมอยู่ที่  2.4 แสนล้านบาท อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E)  กลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10 เท่า จากก่อนหน้านี้เจอแรงขายมากกว่าแรงซื้อกด P/E ลงไปเหลือ 5 เท่า  ซึ่งมีความหมายว่ามูลค่าหุ้นถูกแต่ยังไม่จูงใจให้เข้าไปลงทุน สะท้อนจากราคาหุ้นกลุ่มแบงก์พึ่งปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงในเดือน พ.ย.  

โดยหุ้นแบงก์ใหญ่ราคาปรับตัวขึ้นมากที่สุด ธนาคารกสิกรไทย (BANK)  ราคาหุ้นสิ้นเดือนต.ค. อยู่ที่ 76.25 บาท สิ้นเดือนพ.ย. ราคาอยู่ที่  110 บาท เพิ่มขึ้น 44.2 %  ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)ราคาหุ้นสิ้นเดือนต.ค. อยู่ที่ 65 บาท สิ้นเดือนพ.ย. ราคาอยู่ที่  85.50 บาท  เพิ่มขึ้น 31.53 %   

ธนาคารกรุงไทย (KTB) ราคาหุ้นสิ้นเดือนต.ค. อยู่ที่ 8.65  บาท สิ้นเดือนพ.ย. ราคาอยู่ที่  10.70 บาท เพิ่มขึ้น   23.69 %   และธนาคารกรุงเทพ (BBL)  ราคาหุ้นสิ้นเดือนต.ค. อยู่ที่ 96.75 บาท สิ้นเดือนพ.ย. ราคาอยู่ที่  118 บาท  เพิ่มขึ้น 21.96  %  

นอกจากราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นแรงแล้วหุ้นแบงก์ยังเป็นเป้าหมายใหญ่ของเม็ดเงินต่างชาติในการเข้าซื้อลงทุนในรอบนี้ด้วย  โดยมี 2 ประเด็นหลักรองรับคือราคาหุ้นที่ลงมาค่อนข้างถูกจาก P/E ที่ต่ำ และ การปลดล็อกสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลได้

การเข้ามาลงทุนในหุ้นแบงก์ของต่างชาติจากตัวเลขที่ถือครองผ่าน บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด (NVDR) มีการปรับเพิ่มขึ้นแทบทุกบริษัท  แต่ที่เพิ่มขึ้นโดดเด่นมากที่สุดยกให้ BBL มีสัดส่วนขึ้นมาอยู่ที่  23.77

สำหรับการถือครองหุ้นต่างชาติผ่าน NVDR  ในหุ้นจะมีสิทธิรับแค่เงินปันผลแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงใดๆทั้งสิ้น   และการถือครองในกลุ่มแบงก์ทางแบงก์ชาติมีการกำหนดเกณฑ์เพดานไม่ให้เกิน 25 %  หากเกินเกณฑ์ดังกล่าวทาง NVDR จะให้มีการปรับพอร์ตถือครองให้เป็นไปตามเกณฑ์

ดังนั้นในบรรดาหุ้นแบงก์ใหญ่ BBL ถือว่ามีความเสี่ยงที่อัตราการถือครองหุ้นผ่าน NVDR จะเต็มเพดาน อาจจะทำให้มีผลต่อการเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มของต่างชาติและดันราคาหุ้นอาจจะไม่ร้อนแรงเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากการถือครองผ่าน NVDR แล้วยังมีสัดส่วนการถือครองของต่างชาติ (Foreign Limit)  ที่กำหนดการถือหุ้นของต่างชาติตามเกณฑ์ที่บริษัทนั้นได้ขออนุญาตเอาไว้  หากดูจากสัดส่วนดังกล่าวจะพบว่า BBL  มีสัดส่วนใกล้เต็มเพดานมากที่สุดในกลุ่มแบงก์ เช่นกัน

อย่างไรก็ตามในภาพลงทุนของกลุ่มแบงก์ถือว่ายังมีแรงส่งไม่น้อย ยิ่งหากมีการใช้วัคซีนกับคนได้เป็นวงกว้างเมื่อไรหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมักจะได้รับผลดีก่อนหุ้นกลุ่มอื่น  จึงทำให้หลายโบรกมองเป็นโอกาสปรับน้ำหนักขึ้นจาก “ถือครอง”  หรือ Neutral  มาเป็น “เพิ่มน้ำหนักลงทุน หรือ Overweight