แพนิค ‘ทรู’ ลดถือกองดิจิทัล หวั่นผลตอบแทนปันผลต่ำ

แพนิค ‘ทรู’ ลดถือกองดิจิทัล   หวั่นผลตอบแทนปันผลต่ำ

การขยับลดสัดส่วนการถือครองหน่วยลงทุนของเจ้าของสินทรัพย์ ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ถึง 2 ครั้งซ้อนในปี 2563

 สำหรับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เริ่มทำให้เกิดความสั่นคลอนถึงแนวโน้มความสามรถในการจ่ายผลตอบแทนในรูปเงินปันผลจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน

หลังจาก TRUE แจ้งมติอนุมัติขายหน่วยลงทุน DIF ที่ถือออกมาไม่เกิน 300 ล้านหน่วยหรือ 2.88 % ซึ่งมีการทำรายการการขายกระดานรายใหญ่ (Big Lot) DIF 19 รายการ จำนวน 296 ล้านหน่วย มูลค่า 3,999.55 ล้านบาท มีราคาเฉลี่ย 13.50 บาท

ส่งผลทำให้ถือสัดส่วนลดลงจาก 26.183 % เหลือ 23.379 % เพื่อนำเงินใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มบริษัท ด้านราคาหุ้น DIF ปรับตัวลดลงจากข่าวดังกล่าวถึง 4 วันทำการ จาก 14.80 บาท มาปิดอยู่ที่ 13.60 บาท หรือลดลง 8 %

ก่อนหน้านี้ทาง TRUE ได้มีการเข้าทำรายการ Big Lot มาแล้วช่วงเดือน มิ.ย. 2563 โดยเป็นการขาย 45 รายการ จำนวน 159.25 ล้านหน่วย มูลค่า 2,340.98 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 14.70 บาท และในกระดานต่างประเทศอีก 2รายการ 140.75 ล้านหน่วย มูลค่า 2,069.03 ล้านบาท ในราคเดียวกัน 14.70 บาท ส่งผลทำให้ในช่วงดังกล่าว TRUE มีสัดส่วนลดลง 2.82 % จาก 28.11 % เหลือ 26.183 %

ช่วงเวลาดังกล่าวสอดคล้องกับการบริหารสภาพคล่องของ TRUE ที่จะมีผลต่อตัวเลขกำไรในแต่ละปี เนื่องจากปี 2561 -2562 มีการทยอยขายสินทรัพย์เข้ากองทุนดังกล่าวจำนวนที่สูง โดยในปี 2561 ได้มีการขายสินทรัพยเข้ากองทุนมูลค่า 56,000 ล้านบาท จนทำให้ในปีนั้น TRUE มีกำไรพิเศษและมีผลต่อกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ที่สำคัญ TRUE ยังสามารถประกาศจ่ายปันผลได้อีกด้วย

ถัดมาปี 2562 ช่วงเดือนส.ค. TRUE ขายสินทรัพย์เข้ากองทุนเป็นครั้งที่ 4 มูลค่า 15,676 ล้านบาท ซึ่งทาง DIF ได้ใช้วิธีการเพิ่มทุน 10,500 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 1,050 ล้านหน่วย เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในอัตรา 9.4 หน่วยลงทุนเดิมต่อ 1 หน่วยลงทุนใหม่ เพื่อเตรียมเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่4 

การซื้อสินทรัพย์รอบนี้มีการประกาศข้อมูลชัดเจน ว่ารายได้สุทธิรวมของกองทุน DIF ตามสัญญาอยู่ที่ 14,122.95 ล้านบาท ระยะเวลา 12 เดือน (1 ต.ค. 2562 -30 ก.ย. 2563 ) ซึ่งเป็นเพิ่มจาก 12,973.79 ล้านบาท หรือ 8.9%

ตัวเลขดังกล่าวทำให้กองทุนมีกระแสเงินสดสำหรับจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน จำนวน 11,116.66 ล้านบาท สำหรับระยะเวลา 12 เดือนสิ้นสุด 30 ก.ย. 2563 เพิ่มจาก 10,061.87 บาท หรือ10.5 % และมีผลกลับไปยังการจ่ายเงินปันผลรายปี แก่ผู้ถือหน่วยตามนโยบาย DIF อย่างน้อย 90 % ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าการสินทรัพย์รอบใหญ่ในช่วง 2 ปีดังกล่าวเป็นล็อตใหญ่ จนทำให้การขายสินทรัพย์รอบต่อไปต้องใช้เวลามากขึ้น แต่ภาวะสถานการณ์โควิด -19 และ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวไม่ได้อยู่ในการคาดการณ์ของเหล่าผู้บริหารจึงทำให้การเตรียมเงินในกระเป๋าให้มากที่สุดเพื่อรองรับวิกฤติย่อมต้องมีมากขึ้น

ฝากของ บริษัท ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ จำกัด (TUC) เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในระบบใยแก้วและระบบบอรดแบนด์ ที่เป็นผู้ขายสินทรัพย์เข้ากองทุน DIF และเป็นบริษัทย่อยของ TRUE ยังได้มีการเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ให้กับผู้ลงทุนกลุ่มสถาบัน และรายใหญ่ ช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

โดยเป็นการเสนอขาย ไม่เกิน 9,800 ล้านบาท อายุ 1 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.10 % ต่อปี และ อายุ 5 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4.40 % ต่อปี ซึ่งวัตถุประสงค์หลังเพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเก่า รวมยังเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในธุรกิจไปด้วย

นอกจากนี้ยังไม่นับรวมไปถึง TRUE มีการออกหุ้นกู้ ในช่วงเดือน ก.ค. มูลค่ารวมไม่เกิน 24,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาเช่นกัน ดังนั้นหากภายใต้การเตรียมสภาพคล่องเพื่อใช้ในการหมุนเวียนทางธุรกิจเท่ากับกลุ่ม TRUE มีการตุนเอาไว้มากถึง 4 หมื่นกว่าล้านบาท  จึงมีความเป็นไปได้ว่าช่วง 2 ปีข้างหน้าเมื่อไม่มีการขายสินทรัพย์เพิ่มเติมผลตอบแทนจากการจ่ายเงินปันผลของ DIF ไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือรายได้จากการให้เช่าโครงข่ายมีโอกาสชะลอตัวหากเศรษฐกิจไม่ฟื้น การถือในสัดส่วนที่สูงอาจจะไม่จำเป็น